Friday, April 17, 2020

เทวปฏิมา ของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์





ใครที่ติดตามบล็อกนี้มาตลอด คงจะได้เห็นกันแล้วนะครับ ว่าเทวะปฏิมาของ จอมเทพเควตซัลโคอาทล์ (Quetzalcoatl) ส่วนมากจะปรากฏในรูปแบบของพญางูขนนก ที่ทำเป็นรูปมนุษย์นั้นมีน้อยมาก

และในความเป็นจริง ประติมานวิทยาของพระองค์ ก็มีอยู่เพียง 2 รูปแบบหลักๆ นี้เท่านั้นละครับ

เพียงแต่ว่าจะมีรูปลักษณ์ และรายละเอียดที่แตกต่างกันไปในแต่ละชนชาติ และวัฒนธรรมที่บูชาพระองค์

ซึ่งเราก็พอจะรวบรวมมาได้ดังต่อไปนี้

 1. วัฒนธรรมโอลเม็ค (Olmec)

 เป็นภาพแกะสลักแบบนูนสูงบนก้อนหิน ซึ่งได้มาจากแหล่งโบราณคดีที่ ลา เบนตา (La Venta) ในเม็กซิโก แสดงถึงกษัตริย์ หรือชนชั้นสูงพี่กำลังนั่งอยู่ในสิ่งก่อสร้าง หรือยานพาหนะอะไรสักอย่างหนึ่ง




ปริศนาของภาพนี้จึงมีอยู่หลายอย่างครับ

อย่างแรกที่สุด คือความไม่แน่ใจของนักโบราณคดี ว่าจะเป็นภาพของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์จริงหรือไม่?

ด้วยว่าภาพนี้มีอายุเก่าไปถึง 900 ปีก่อนคริสตกาล เก่ายิ่งกว่าหลักฐานที่เราแน่ใจว่าเป็นหลักฐานที่เก่าที่สุดของพระองค์ ที่ นครเตโอติวาคัน (Teotihuacan) เสียอีก

วัตถุอันเป็นที่ประทับของพระองค์ แม้จะพอคาดเดาได้ว่า อาจจะเป็นเทวบัลลังก์ ซึ่งด้านบนทำเป็นเศียรพญางู เป็นการสื่อความหมายว่าทรงเป็นเทพที่เกี่ยวข้องกับงูใหญ่ หรืออาจจะหมายความว่า งูใหญ่นั้นเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของพระองค์

แต่ที่อธิบายกันไม่ได้อย่างสิ้นเชิง ก็คือ พระองค์กำลังทำอะไรอยู่?

และเมื่อใดก็ตาม ที่วงการโบราณคดีตกลงใจร่วมกัน ว่าภาพแกะสลักนี้เป็นของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ มันก็จะมิได้เป็นเพียงหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของลัทธิการบูชาจอมเทพองค์นี้เท่านั้น ยังเป็นการยืนยันว่า ประติมานวิทยาของพระองค์ที่ทำเป็นรูปมนุษย์นั้น มีมาก่อนรูปของพญางูขนนกด้วย

2. วัฒนธรรมมายา (Maya)

ในบทความ https://quetzalcoatlpath.blogspot.com/2020/02/blog-post_18.html เราได้ทราบกันมาแล้วว่า ชาวมายามิได้นับถือบูชาจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ จนกระทั่งปลายคริสตศตวรรษที่ 10  ซึ่งเป็นอารยธรรมมายาในยุคใหม่ ที่แต่ละนครรัฐมิได้มีอายุยืนยาวเกินกว่า 300 ปี

ดังนั้น แม้จะนับถือพระองค์เป็นเทพองค์สำคัญ ก็มิได้มีการสร้างเทวรูป หรือประติมากรรมใดๆ เกี่ยวแก่พระองค์ไว้มากนัก




ที่พอจะหาดูได้ง่ายที่สุด คือประติมากรรมมากรรมเศียรพญางูขนนก ซึ่งทำไว้กำกับสองข้างของเชิงบันไดทางขึ้นสู่ปราสาทหินอันมีชื่อเสียงที่สุดของพระองค์ ที่เรียกกันในภาษาสเปนว่า เอล คาสตินโญ (El Castillo) ที่ นครชิเชน อิตซา (Chichén Itzá) เม็กซิโก

เศียรพญาหูขนนกแถวนี้ ก็คือสัญลักษณ์ของพระองค์ ที่มีพระนามในภาษามายันว่า จอมเทพกูกูลคัน (Kukulkán) ซึ่งไม่มีรูปลักษณ์ที่สวยงาม หรือโดดเด่นมากนัก แม้จะเป็นส่วนประกอบของเทวสถานที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของอเมริกากลางก็ตาม

ส่วนเทวรูปที่สำคัญที่สุดของพระองค์ ซึ่งควรจะประดิษฐานภายในหอเทวาลัยชั้นบนสุดนั้น ได้สูญหายไปนานแล้ว




ความจริง เทวปฎิมาของพระองค์ในรูปมนุษย์ก็มีอยู่บ้าง เช่นที่ ตูลุม (Tulum) เม็กซิโก แต่ก็เป็นศิลปะมายันในยคเสื่อมแล้ว และไม่มีคุณลักษณะที่น่าสนใจใดๆ

 3. วัฒนธรรมอัซเต็ค (Aztec)

พวกเขานับเป็นชนชาติที่มีชื่อเสียงที่สุด ในลัทธิการบูชาจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ และเป็นอารยธรรมลำดับท้ายที่สุดในอเมริกากลาง ที่สืบทอดลัทธิศาสนาดังกล่าวนี้ไว้ด้วย

โดยแม้ว่าจะเป็นคติความเชื่อที่ได้รับมาจากชาวตอลเต็ค (Toltec) แต่เทววิทยาของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์แทบทั้งหมดที่พวกเรารู้จักกัน ล้วนได้มาจากบันทึกของชาวอัซเต็ค




ประติมานวิทยาของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ ในศิลปะของชนชาตินี้นั้น มีทั้งที่เป็นรูปมนุษย์ และรูปพญางูขนนก แม้ว่าแบบหลังจะเป็นที่รู้จักกันมากกว่าก็ตาม แต่เทวปฏิ,kที่เป็นรูปมนุษย์นั้น ก็ทำได้อย่างสวยงามยิ่งกว่าเทพเจ้าองค์ใดในศิลปะของชาวอัซเต็ค และจะพูดว่างามที่สุดในศิลปะอเมริกากลางทั้งปวง ก็เห็นจะไม่เกินความจริงนัก

ในเอกสารโบราณของชาวอัซเต็ค มีภาพวาดของพระองค์ที่เป็นรูปมนุษย์เช่นเดียวกับเทพอื่นๆ แต่เรายังไม่เคยค้นพบรูปภาพเช่นนี้ ที่ทำเป็นประติมากรรมหรือเทวรูปใดๆ จึงเชื่อกันว่าถ้าขะเคยมีอยู่ ก็คงถูกชาวสเปนทำลายเสียหมดแล้วก็ได้

ส่วนเศียรพญางูขนนก ณ เทวสถานของพระองค์ ในนครเตโอติวาคัน อันเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดนั้น เคยมีผู้วิจารณ์ว่าดูเหมือนกับหัวจระเข้มากกว่าหัวงูใหญ่ และตามความนิยมในประติมานวิทยาอัซเต็ค ก็มักจะทำเพียงรูปพระเศียรดังกล่าวนี้ยื่นออกมาจากผนัง โดยมีแผงคอเป็นรูปขนนก

และเราจะไม่เห็นรูปลักษณ์เช่นนี้ในศิลปะอัซเต็คโบราณ ที่ทำอย่างเต็มองค์เลย เว้นแต่ที่เป็นภาพวาดในเอกสารต่างๆ เท่านั้น

การที่ชาวเม็กซิกันโบราณทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นมายา หรืออัซเต็ค เรียกจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ว่าพญางูขนนก ก็เพราะขนนกงั้นสื่อความหมายถึงนก หรือสิ่งที่โบยบินไปได้ในอากาศ และจอมเทพองค์นี้ ก็คือพญางูที่เหาะเหินเดินอากาศได้ เหมือนพญามังกรของจีนนั่นเอง




ดังนั้น รูปวาดของพระองค์เท่าที่ยังมีเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน จึงเป็นรูปพญางูที่มีขนนกตลอดทั้งตัว มิใช่มีอยู่แต่เฉพาะแผงคอเท่านั้น แต่ชาวอัซเต็คก็ไม่นิยมทำ เพราะ design ให้สวยได้ยาก

ปัจจุบัน เศียรพญางูขนนกนี้ได้กลายเป็นรูปแบบของเครื่องราง หรือวัตถุมงคลของพระองค์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด แม้จะมีศิลปินร่วมสมัยหลายท่านที่พยายามนำเสนอพญางูขนนกทั้งตัวออกสู่ท้องตลาดก็ตาม

4. วัฒนธรรมอินคา (Inca)

ชาวอินคานั้นนับถือจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ ในพระนามว่า จอมเทพวิราโคชา (Viracocha) และมีเทวรูปของจอมเทพองค์นี้ทั้งที่เป็นประติมากรรมทองคำชิ้นเล็กๆ และภาพแกะสลักที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากชนชาติอื่นเป็นอย่างมาก

นั่นคือ ล้วนแต่ทำเป็นรูปมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่มีความนิยมในประติมานวิทยาที่เป็นพญางูขนนก  แม้ว่าพวกเขาจะได้รับคติการบูชาพระองค์มาจากลัทธิศาสนาเม็กซิกัน ที่ชื่นชอบพญางูขนนกก็ตาม




ประติมากรรมทองคำของจอมเทพวิราโคชา ในศิลปะอินคานั้น มีรูปลักษณ์ที่ดูป่าเถื่อนเช่นเดียวกับศิลปะมายา ในขณะเดียวกันก็มีพระพักตร์ที่ดูคล้ายกับศิลปะจีนโบราณ ซึ่งแม้ว่าจะไม่สวยงามเมื่อเทียบกับเทวปฏิมาทองคำของเทพอินคาองค์อื่น แต่ก็นับว่าเป็นศิลปวัตถุที่มีมูลค่ามากที่สุดของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ เท่าที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนภาพแกะสลักที่เก่าที่สุดของจอมเทพวิราโคชานั้น คือ พระพักตร์ของพระองค์บนทับหลัง ประตูสุริยัน (Gate of The Sun) ที่ ติอาวานาโค (Tiahuanaco) หรือ ตินาวากุ (Tiwanaku)




และต่อมา เทวรูปนูนสูงของพระองค์ที่ทำพระวรกายเต็มองค์ ก็มีให้เห็นในแหล่งโบราณคดีอินคาหลายแห่ง ซึ่งทำได้อย่างสวยงาม และน่าสนใจกว่าเทวปฏิมาของพระองค์ในทุกๆ วัฒนธรรมที่กล่าวมาแล้ว

เพราะแต่ละองค์ล้วนมีรูปลักษณ์ รายละเอียด และองค์ประกอบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาพบนสุดของบทความนี้ หรือภาพแกะสลักหินใน นครคูซโค (Cuzco) ด้านล่าง จนถ้ามิใช่ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงแล้ว ก็ยากที่จะบอกได้ว่าเป็นของเทพองค์เดียวกัน




และท้งหมดก็อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นเทวปฏิมาในรูปมนุษย์ที่น่าประทับใจที่สุดอีกแบบหนึ่ง ของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์

ทั้งยังเป็นที่ชื่นชอบของชาวตะวันตกโดยทั่วไป มากกว่า สุริยเทพอินติ เรย์มี (Inti Raymi) ซึ่งเป็นเทพคู่อารยธรรมอินคาเสียอีก

...................................

หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

No comments:

Post a Comment