Tuesday, February 18, 2020

ลัทธิศาสนามายา






อารยธรรมมายา (Maya) เป็นอารยธรรมทางศาสนาอย่างแท้จริง ความรู้ทุกอย่างพัฒนาขึ้นจนถึงจุดสูงสุดก็เพราะศาสนา

แต่เนื่องจากข้อมูลที่ได้ในเรื่องนี้ มีความสับสนและคลุมเครือ รวมทั้งยังขาดรายละเอียดอีกมาก จนหลายๆ ส่วนยังไม่อาจตีความกันได้

เราจึงทราบแต่เพียงว่า พระเป็นเจ้าสูงสุดของชาวมายาในสมัยแรกเริ่มอาจจะเป็น เทพบิดรฮูนับ คู (Hunab Ku) พระผู้สร้างจักรวาล ซึ่งไม่ปรากฏรูปร่าง ไม่ทรงมีบทบาทเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนมากนัก
         
ในขณะเดียวกัน นักเทววิทยาอีกส่วนหนึ่งก็เชื่อว่า บรมเทพสูงสุดของศาสนามายาสมัยแรกคือ จอมเทพอิตซัมนา (Itzamna) ซึ่งบางแห่งก็เชื่อว่าเป็นองค์เดียวกับเทพบิดรฮูนับ คู แต่ในบางเทวปกรณ์ จอมเทพอิตซัมนาก็ทรงสำแดงพระองค์เป็นโอรสของจอมเทพฮูนับ คู
         
จอมเทพอิตซัมนา ได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นผู้สร้างมนุษย์ เป็นผู้ประดิษฐ์คัมภีร์ และประทานภาษาเขียนหรืออักษรภาพ ทรงเป็นคุรุเทพผู้เป็นใหญ่ในศิลปวิทยาการทั้งปวง

พระองค์และคณะเทพที่อุปถัมภ์ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวมายา เช่นการค้าขาย การเกษตร การเลี้ยงสัตว์  การล่าสัตว์ การประมง สงคราม  การประพันธ์ ดนตรี การบูชายัญ ความตาย ชะตากรรม และวิชาการแขนงต่างๆ ล้วนได้รับการนับถือว่า ทรงมีเทวานุภาพยิ่งใหญ่เหนือมวลมนุษย์

และแต่ละองค์ ก็มักทรงมีทิพยภาวะที่ขัดแย้งกันเองในเทพองค์เดียวกัน เช่น ความเมตตาและความโหดร้าย




หากแต่ในส่วนของเทพนารี ก็ยังมีพระแม่บางองค์ที่ทรงได้รับการนับถือในด้านของความอ่อนหวาน และทรงมีความเมตตามาก เช่น จันทรเทวี อิกซ์เชล (Ixchel) ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของแม่และเด็ก 
         
นอกจากนี้ เทพเจ้าหลายองค์ก็ทรงมีทิพยรูปที่แตกต่างกันไปตามโอกาสต่างๆ เช่นในช่วงเวลาหนึ่งหรือกลางวัน-กลางคืน ก็จะทรงมีทิพยรูปอย่างหนึ่งไม่ซ้ำกัน

หรือบางครั้ง ก็ปรากฏพระองค์ในคราวเดียวกันหลายลักษณะ ซึ่งแต่ละลักษณะนั้น ก็จะมีพระนามแยกย่อยไปอีกเป็นการเฉพาะ ทำให้มีเรื่องราวที่สลับซับซ้อนมากขึ้น

เทวศาสตร์ของชาวมายา ได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงระหว่าง 300 ปีก่อนคริสตกาล จนกระทั่งถึงค.ศ.200 ซึ่งมีการขยายพื้นที่การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จากภายในบ้านออกไปสู่พื้นที่ส่วนกลาง โดยมีการก่อสร้างเทวสถานขึ้นเป็นอันมาก
         
อย่างไรก็ตาม ภายในไม่กี่ร้อยปีต่อมา ยุคเสื่อมของอารยธรรมก็เริ่มเกิดขึ้นในระหว่างค.ศ.800-900 เป็นผลให้กิจกรรมทางศาสนาหยุดชะงัก และเสื่อมทรามลงอย่างรวดเร็ว




เทวสถานในนครรัฐต่างๆ ที่ยังสร้างค้างอยู่ถูกทอดทิ้ง มีการอพยพประชากร จนนครรัฐที่เคยมีความสำคัญและใหญ่โตหลายแห่ง กลายเป็นเมืองร้างภายในชั่วเวลาเพียงไม่กี่ปี

โดยเหตุแห่งความเสื่อมนั้น นักโบราณคกีสันนิษฐานว่า ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการแข่งกันสร้างเทวสถาน และเทวรูปต่างๆ ในระหว่างนครรัฐอย่างมากมาย จนเกินกำลังของประชากรในเมืองเหล่านั้น ซึ่งพบกับภาวะขาดแคลนอาหารเป็นทุนเดิมอยู่

นับจากช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา จึงมีแต่เพียงประชากรกลุ่มเล็กๆ ที่ยังคงอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้กับนครใหญ่ที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน และยังคงพยายามใช้เทวสถานที่ถูกทิ้งร้าง เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนากันอยู่




ดังเช่นที่ นครติกัล (Tikal) ในกัวเตมาลา คนที่เหลืออยู่ที่นั่นยังพยายามสร้างเทวสถาน และเทวรูปใหม่ๆ ขึ้นด้วย

แต่ก็ทำได้อย่างหยาบและล้าหลัง เมื่อเทียบกับของเดิม แสดงให้เห็นถึงคุณภาพฝีมือ และความศรัทธที่เสื่อมไปมากแล้ว

จากนั้น อารยธรรมมายาก็กลับรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงระหว่างค.ศ.900-1200 ในแคว้นยูคาตัน (Yucatan) อันเป็นที่ตั้งของนครสำคัญต่างๆ เช่น อุกซ์มัล (Uxmal) และ ชิเชน อิตซา (Chichén Itzá)

ในนครเหล่านี้ มีการสร้างเทวสถานขึ้นอย่างงดงามและยิ่งใหญ่ ซึ่งน่าเชื่อว่า คงเป็นผลงานของบรรดานักปราชญ์และช่างฝีมือที่อพยพไปจากอดีตเมืองสำคัญในสมัยหลังค.ศ.1000 นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ลัทธิศาสนาที่ ชิเชน อิตซา ก็แสดงถึงการรับแนวคิดทางเทววิทยาจากชนเผ่าเม็กซิกัน ซึ่งไม่เคยมีในอารยธรรมมายามาก่อน

ลัทธิใหม่นี้ เป็นเรื่องราวของจอมเทพองค์ใหม่อย่างแท้จริง นั่นคือ จอมเทพเควทซัลโคอาทล์ (Quetzalcoatl) ซึ่งชาวมายาเรียกพระองค์ว่า จอมเทพกูกูลคัน (Kukulkán)




จากข้อมูลแหล่งต่างๆ ก็ทำให้เชื่อได้ว่า กษัตริย์ชาวตอลเต็ค (Toltec) ซึ่งนับถือพระองค์ ถูกขับไล่โดยกองกำลังของผู้บูชาเทพอสูรเตซคาทลิโปคา (Tezcatlipoca) และทรงนำผู้คนเดินทางออกจากนครตูลา (Tula) ไปยังชิเชน อิตซาในค.ศ.987

ด้วยเหตุผลบางอย่าง พระองค์ทรงได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีที่นั่น และในที่สุด ชนเผ่าอิตซา (Itza) ผู้สร้างนครชิเชน อิตซา ก็ผสมผสานกับชาวตอลเต็ค ภายใต้การนำของกษัตริย์ที่นับถือจอมเทพกูกูลคัน จนกลายเป็นชนชั้นผู้นำของชิเชน อิตซา

การเข้ามาของลัทธิศาสนาที่บูชาจอมเทพกูกูลคัน ทำให้ชิเชน อิตซา เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการสร้างปราสาทหินขนาดใหญ่และงดงาม และมีชื่อเสียงที่สุดจนทุกวันนี้ เพื่อถวายแด่พระองค์

และลัทธิศาสนาดังกล่าว ก็แผ่ขยายจากชิเชน อิทซา ไปยังนครรัฐต่างๆ ของมายาทั่วทั้งคาบสมุทรยูคาตัน ชาวมายาได้รับพิธีกรรม และการบูชาเทพเจ้าใหม่ๆ จากวัฒนธรรมเม็กซิกันหลายองค์ ทำให้เกิดรูปแบบของเทวสถานแนวใหม่ และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางวัฒนธรรมอย่างรุนแรง ในระยะเวลาสามร้อยปีต่อมา




ชิเชน อิตซา เจริญรุ่งเรืองอยู่นานกว่า 200 ปี หลังจากค.ศ.1200 นครดังกล่าวก็ถูกละทิ้ง โดยมีตำนานพื้นเมืองกล่าวว่า เป็นพระประสงค์ของจอมเทพกูกูลคัน

และมีการอพยพไปสร้างเมืองใหม่ที่ มายาปัน (Mayapan) ซึ่งก็กล่าวกันว่า เป็นการสร้างสรรค์ขององค์จอมเทพด้วย

ในทางเทวปกรณ์ระบุว่า พระองค์เสด็จประทับ ณ เทวสถานกลางเมืองนี้อยู่หลายปี ก่อนจะเสด็จกลับเม็กซิโก

แต่นักโบราณคดีเชื่อว่า เป็นการกล่าวอ้างของปฐมกษัตริย์ และนักบวชที่พาประขาขนละทิ้งนครชิเชน อิตซา มาสร้างนครแห่งนี้มากกว่าครับ

เพราะนครมายาปันแห่งนี้ จะคงอยู่ต่อมาได้เพียง 259 ปี ก็ค้องวอดวายไปในกองเพลิง อันเนื่องมาจากการปกครองของกษัตริย์ที่ไร้ทศพิธราชธรรม จนประชาชนต้องก่อกบฏ




เมื่อชาวมายาในยุคสุดท้ายเผชิญหน้ากับทหารสเปน ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 16-17 พวกเขามิได้คิดว่า คนผิวขาวเหล่านี้เกี่ยวข้องอะไรกับจอมเทพกูกูลคัน

และเป็นเพราะการขาดแคลนยุทธวิธี และอาวุธที่ทันสมัย เท่านั้นละครับ ที่ทำให้พวกเขาเป็นฝ่ายแพ้ในท้ายที่สุด มิใช่เพราะตำนานหรือความเชื่อใดๆ

...................................


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

No comments:

Post a Comment