Friday, April 17, 2020

เทวปฏิมา ของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์





ใครที่ติดตามบล็อกนี้มาตลอด คงจะได้เห็นกันแล้วนะครับ ว่าเทวะปฏิมาของ จอมเทพเควตซัลโคอาทล์ (Quetzalcoatl) ส่วนมากจะปรากฏในรูปแบบของพญางูขนนก ที่ทำเป็นรูปมนุษย์นั้นมีน้อยมาก

และในความเป็นจริง ประติมานวิทยาของพระองค์ ก็มีอยู่เพียง 2 รูปแบบหลักๆ นี้เท่านั้นละครับ

เพียงแต่ว่าจะมีรูปลักษณ์ และรายละเอียดที่แตกต่างกันไปในแต่ละชนชาติ และวัฒนธรรมที่บูชาพระองค์

ซึ่งเราก็พอจะรวบรวมมาได้ดังต่อไปนี้

 1. วัฒนธรรมโอลเม็ค (Olmec)

 เป็นภาพแกะสลักแบบนูนสูงบนก้อนหิน ซึ่งได้มาจากแหล่งโบราณคดีที่ ลา เบนตา (La Venta) ในเม็กซิโก แสดงถึงกษัตริย์ หรือชนชั้นสูงพี่กำลังนั่งอยู่ในสิ่งก่อสร้าง หรือยานพาหนะอะไรสักอย่างหนึ่ง




ปริศนาของภาพนี้จึงมีอยู่หลายอย่างครับ

อย่างแรกที่สุด คือความไม่แน่ใจของนักโบราณคดี ว่าจะเป็นภาพของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์จริงหรือไม่?

ด้วยว่าภาพนี้มีอายุเก่าไปถึง 900 ปีก่อนคริสตกาล เก่ายิ่งกว่าหลักฐานที่เราแน่ใจว่าเป็นหลักฐานที่เก่าที่สุดของพระองค์ ที่ นครเตโอติวาคัน (Teotihuacan) เสียอีก

วัตถุอันเป็นที่ประทับของพระองค์ แม้จะพอคาดเดาได้ว่า อาจจะเป็นเทวบัลลังก์ ซึ่งด้านบนทำเป็นเศียรพญางู เป็นการสื่อความหมายว่าทรงเป็นเทพที่เกี่ยวข้องกับงูใหญ่ หรืออาจจะหมายความว่า งูใหญ่นั้นเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของพระองค์

แต่ที่อธิบายกันไม่ได้อย่างสิ้นเชิง ก็คือ พระองค์กำลังทำอะไรอยู่?

และเมื่อใดก็ตาม ที่วงการโบราณคดีตกลงใจร่วมกัน ว่าภาพแกะสลักนี้เป็นของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ มันก็จะมิได้เป็นเพียงหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของลัทธิการบูชาจอมเทพองค์นี้เท่านั้น ยังเป็นการยืนยันว่า ประติมานวิทยาของพระองค์ที่ทำเป็นรูปมนุษย์นั้น มีมาก่อนรูปของพญางูขนนกด้วย

2. วัฒนธรรมมายา (Maya)

ในบทความ https://quetzalcoatlpath.blogspot.com/2020/02/blog-post_18.html เราได้ทราบกันมาแล้วว่า ชาวมายามิได้นับถือบูชาจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ จนกระทั่งปลายคริสตศตวรรษที่ 10  ซึ่งเป็นอารยธรรมมายาในยุคใหม่ ที่แต่ละนครรัฐมิได้มีอายุยืนยาวเกินกว่า 300 ปี

ดังนั้น แม้จะนับถือพระองค์เป็นเทพองค์สำคัญ ก็มิได้มีการสร้างเทวรูป หรือประติมากรรมใดๆ เกี่ยวแก่พระองค์ไว้มากนัก




ที่พอจะหาดูได้ง่ายที่สุด คือประติมากรรมมากรรมเศียรพญางูขนนก ซึ่งทำไว้กำกับสองข้างของเชิงบันไดทางขึ้นสู่ปราสาทหินอันมีชื่อเสียงที่สุดของพระองค์ ที่เรียกกันในภาษาสเปนว่า เอล คาสตินโญ (El Castillo) ที่ นครชิเชน อิตซา (Chichén Itzá) เม็กซิโก

เศียรพญาหูขนนกแถวนี้ ก็คือสัญลักษณ์ของพระองค์ ที่มีพระนามในภาษามายันว่า จอมเทพกูกูลคัน (Kukulkán) ซึ่งไม่มีรูปลักษณ์ที่สวยงาม หรือโดดเด่นมากนัก แม้จะเป็นส่วนประกอบของเทวสถานที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของอเมริกากลางก็ตาม

ส่วนเทวรูปที่สำคัญที่สุดของพระองค์ ซึ่งควรจะประดิษฐานภายในหอเทวาลัยชั้นบนสุดนั้น ได้สูญหายไปนานแล้ว




ความจริง เทวปฎิมาของพระองค์ในรูปมนุษย์ก็มีอยู่บ้าง เช่นที่ ตูลุม (Tulum) เม็กซิโก แต่ก็เป็นศิลปะมายันในยคเสื่อมแล้ว และไม่มีคุณลักษณะที่น่าสนใจใดๆ

 3. วัฒนธรรมอัซเต็ค (Aztec)

พวกเขานับเป็นชนชาติที่มีชื่อเสียงที่สุด ในลัทธิการบูชาจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ และเป็นอารยธรรมลำดับท้ายที่สุดในอเมริกากลาง ที่สืบทอดลัทธิศาสนาดังกล่าวนี้ไว้ด้วย

โดยแม้ว่าจะเป็นคติความเชื่อที่ได้รับมาจากชาวตอลเต็ค (Toltec) แต่เทววิทยาของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์แทบทั้งหมดที่พวกเรารู้จักกัน ล้วนได้มาจากบันทึกของชาวอัซเต็ค




ประติมานวิทยาของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ ในศิลปะของชนชาตินี้นั้น มีทั้งที่เป็นรูปมนุษย์ และรูปพญางูขนนก แม้ว่าแบบหลังจะเป็นที่รู้จักกันมากกว่าก็ตาม แต่เทวปฏิ,kที่เป็นรูปมนุษย์นั้น ก็ทำได้อย่างสวยงามยิ่งกว่าเทพเจ้าองค์ใดในศิลปะของชาวอัซเต็ค และจะพูดว่างามที่สุดในศิลปะอเมริกากลางทั้งปวง ก็เห็นจะไม่เกินความจริงนัก

ในเอกสารโบราณของชาวอัซเต็ค มีภาพวาดของพระองค์ที่เป็นรูปมนุษย์เช่นเดียวกับเทพอื่นๆ แต่เรายังไม่เคยค้นพบรูปภาพเช่นนี้ ที่ทำเป็นประติมากรรมหรือเทวรูปใดๆ จึงเชื่อกันว่าถ้าขะเคยมีอยู่ ก็คงถูกชาวสเปนทำลายเสียหมดแล้วก็ได้

ส่วนเศียรพญางูขนนก ณ เทวสถานของพระองค์ ในนครเตโอติวาคัน อันเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดนั้น เคยมีผู้วิจารณ์ว่าดูเหมือนกับหัวจระเข้มากกว่าหัวงูใหญ่ และตามความนิยมในประติมานวิทยาอัซเต็ค ก็มักจะทำเพียงรูปพระเศียรดังกล่าวนี้ยื่นออกมาจากผนัง โดยมีแผงคอเป็นรูปขนนก

และเราจะไม่เห็นรูปลักษณ์เช่นนี้ในศิลปะอัซเต็คโบราณ ที่ทำอย่างเต็มองค์เลย เว้นแต่ที่เป็นภาพวาดในเอกสารต่างๆ เท่านั้น

การที่ชาวเม็กซิกันโบราณทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นมายา หรืออัซเต็ค เรียกจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ว่าพญางูขนนก ก็เพราะขนนกงั้นสื่อความหมายถึงนก หรือสิ่งที่โบยบินไปได้ในอากาศ และจอมเทพองค์นี้ ก็คือพญางูที่เหาะเหินเดินอากาศได้ เหมือนพญามังกรของจีนนั่นเอง




ดังนั้น รูปวาดของพระองค์เท่าที่ยังมีเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน จึงเป็นรูปพญางูที่มีขนนกตลอดทั้งตัว มิใช่มีอยู่แต่เฉพาะแผงคอเท่านั้น แต่ชาวอัซเต็คก็ไม่นิยมทำ เพราะ design ให้สวยได้ยาก

ปัจจุบัน เศียรพญางูขนนกนี้ได้กลายเป็นรูปแบบของเครื่องราง หรือวัตถุมงคลของพระองค์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด แม้จะมีศิลปินร่วมสมัยหลายท่านที่พยายามนำเสนอพญางูขนนกทั้งตัวออกสู่ท้องตลาดก็ตาม

4. วัฒนธรรมอินคา (Inca)

ชาวอินคานั้นนับถือจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ ในพระนามว่า จอมเทพวิราโคชา (Viracocha) และมีเทวรูปของจอมเทพองค์นี้ทั้งที่เป็นประติมากรรมทองคำชิ้นเล็กๆ และภาพแกะสลักที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากชนชาติอื่นเป็นอย่างมาก

นั่นคือ ล้วนแต่ทำเป็นรูปมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่มีความนิยมในประติมานวิทยาที่เป็นพญางูขนนก  แม้ว่าพวกเขาจะได้รับคติการบูชาพระองค์มาจากลัทธิศาสนาเม็กซิกัน ที่ชื่นชอบพญางูขนนกก็ตาม




ประติมากรรมทองคำของจอมเทพวิราโคชา ในศิลปะอินคานั้น มีรูปลักษณ์ที่ดูป่าเถื่อนเช่นเดียวกับศิลปะมายา ในขณะเดียวกันก็มีพระพักตร์ที่ดูคล้ายกับศิลปะจีนโบราณ ซึ่งแม้ว่าจะไม่สวยงามเมื่อเทียบกับเทวปฏิมาทองคำของเทพอินคาองค์อื่น แต่ก็นับว่าเป็นศิลปวัตถุที่มีมูลค่ามากที่สุดของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ เท่าที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนภาพแกะสลักที่เก่าที่สุดของจอมเทพวิราโคชานั้น คือ พระพักตร์ของพระองค์บนทับหลัง ประตูสุริยัน (Gate of The Sun) ที่ ติอาวานาโค (Tiahuanaco) หรือ ตินาวากุ (Tiwanaku)




และต่อมา เทวรูปนูนสูงของพระองค์ที่ทำพระวรกายเต็มองค์ ก็มีให้เห็นในแหล่งโบราณคดีอินคาหลายแห่ง ซึ่งทำได้อย่างสวยงาม และน่าสนใจกว่าเทวปฏิมาของพระองค์ในทุกๆ วัฒนธรรมที่กล่าวมาแล้ว

เพราะแต่ละองค์ล้วนมีรูปลักษณ์ รายละเอียด และองค์ประกอบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาพบนสุดของบทความนี้ หรือภาพแกะสลักหินใน นครคูซโค (Cuzco) ด้านล่าง จนถ้ามิใช่ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงแล้ว ก็ยากที่จะบอกได้ว่าเป็นของเทพองค์เดียวกัน




และท้งหมดก็อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นเทวปฏิมาในรูปมนุษย์ที่น่าประทับใจที่สุดอีกแบบหนึ่ง ของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์

ทั้งยังเป็นที่ชื่นชอบของชาวตะวันตกโดยทั่วไป มากกว่า สุริยเทพอินติ เรย์มี (Inti Raymi) ซึ่งเป็นเทพคู่อารยธรรมอินคาเสียอีก

...................................

หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

Thursday, March 19, 2020

ปาฎิหาริย์ของพญางูขนนก






ใครติดตาม Facebook ของผมมานาน จะจำได้ว่า ช่วงหนึ่งผมเคยโพสต์-แชร์ เกี่ยวกับลัทธิศาสนา และอารยธรรมอัซเต็ค (Aztec) และมายา (Maya) ในทวีปอเมริกากลาง กับ อินคา (Inca) ในอเมริกาใต้ อยู่นานเป็นปีเลยละครับ

เพราะเป็นช่วงที่กลุ่ม pagan ในเม็กซิโก กำลังรณรงค์ฟื้นฟูศาสนาและวัฒนธรรมอัซเต็คเป็นการใหญ่

ซึ่งก็คือ ลัทธิศาสนาของ จอมเทพเควตซัลโคอาทล์ (Quetzalcoatl)

พระองค์ทรงเป็นเทพที่ลึกลับ และกำลังมาแรงในระดับโลก เพราะขณะที่ทรงมีเทวตำนานที่เกือบจะเหมือนกับ จอมเทพโอสิริส (Osiris) แห่งอียิปต์

พระองค์ก็ทรงมีนิรมาณกายเป็นพญามังกร คล้ายกับที่นับถือกันในแผ่นดินจีนโบราณ คือเป็นมังกรที่เหาะเหินเดินอากาศได้ โดยไม่ต้องมีปีกอย่างมังกรของยุโรป

ที่สำคัญ แม้แต่ตัวผมเองก็ได้ประจักษ์มาแล้ว ถึงบารมี และอิทธิปาฎิหาริย์ของพระองค์

จนไม่แปลกใจเลยครับ ที่บรรดา pagan ทั้งที่เป็นคนเม็กซิกันรุ่นใหม่ๆ จนถึงฝรั่งตะวันตก ต่างก็ยอมรับนับถือพระองค์ ในระดับที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ




เรื่องมีอยู่ว่า ในช่วงต้นปี 1986 ระหว่างที่ผมกำลังศึกษาเทวศาสตร์ไอยคุปต์อยู่ที่ The Royal Institute of Arts (RIA Thailand) Dr.Emily Brett ผู้สอนวิชาดังกล่าว ได้เชิญ Dr.Carlos Alvarez ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนศาสตร์อเมริกากลาง ไปบรรยายสั้นๆ และได้รับความสนใจมาก

ปลายปีนั้น ดร.อัลวาเรซจึงกลับไปทำเวิร์คช็อปที่ RIA พร้อมด้วยเทวรูปจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ และเทพอัซเต็คที่สำคัญอีกหลายองค์ รวมทั้งเครื่องมือประกอบพิธีอย่างเต็มอัตรา

ตอนนั้น ผมกับเพื่อนๆ ที่เป็นลูกศิษย์ของดร.เอมิลี มีความสามารถที่จะ “สื่อ” กับเทพอียิปต์กันได้บ้างแล้ว

ก็ยังคุยกันอยู่ว่า แล้วกับจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ ซึ่งพวกผมรู้จักน้อยกว่าเทพอียิปต์หลายเท่า โองการอัญเชิญที่เป็นภาษานาวาทล์ (Nahuatl) ก็อ่านกันผิดๆ ถูกๆ แล้วจะสัมผัสรู้เห็นอะไรกันได้มากน้อยแค่ไหน

ลงท้ายก็เลยไม่มีใครหวังอะไร จากเวิร์คช็อปครั้งนั้น

แต่ทุกอย่างมันเหนือความคาดหมายจริงๆ ครับ

เรียกว่า เหลือเชื่อที่สุดเลยดีกว่า

เพราะจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ เสด็จมาให้ทุกคนได้เห็นกันด้วย “ตาเนื้อ” เลยครับ

ไม่ใช่ด้วย “สมาธิ

พระองค์ปรากฏอย่างค่อนข้างชัด เป็นเวลานานกว่าอึดใจ ในห้องที่ปิดไฟเกือบจะมืดสนิท เหนือแท่นบูชาของพระองค์ ที่พอจะมองเห็นได้จากตะเกียงดินเผาสองข้างของเทวรูป

และทิพยรูปนั้น ก็เหมือน พญางูขนนก ที่เป็นประติมานวิทยาของพระองค์ ในศิลปะอัซเต็คนั่นแหละครับ




เพียงแต่เคลื่อนไหวได้ และมีพลังกดดัน ที่ทำเอาพวกผมแทบจะกลายเป็นหินกันไปหมด

ทั้งน่าสะพรึงกลัว ทั้งสุขุม ปะปนกันอย่างบอกไม่ถูกครับ

เป็นกระแสที่ชัดเจนว่า คือเทพชั้นสูง แต่ไม่เหมือนเทพในลัทธิศาสนาอื่นใดทั้งสิ้น

ตอนนั้น ดร.อัลวาเรซมีเทวรูปเล็กๆ และเครื่องรางของพระองค์ไปขายด้วยนะครับ แต่ผมไม่มีเงินเลยไม่ได้ซื้อ ยังเสียดายมาจนทุกวันนี้

เมื่อผมเผยแพร่เทววิทยาไวกิ้ง กรีก-โรมัน รวมถึงอียิปต์โบราณด้วยใน facebook เห็นว่าไหนๆ จอมเทพเควตซัลโคอาทล์ก็ทรงเป็นเทพที่มีจริง และเป็นเทพอีกวงศ์หนึ่งที่อยู่ในกระแสโลกเช่นกัน จึงคิดจะต่อยอดความรู้ทางเทววิทยาของเพื่อนๆ ชาวเฟซ ไม่ให้ตกเทรนด์

แต่ก็ต้องเลิกล้มไปในที่สุด เพราะได้รับความสนใจน้อยมาก ไม่คุ้มค่ากับการที่ต้องเสียเวลา-สุขภาพในการโพสต์ครับ

แต่แม้ผมจะไม่ประสบความสำเร็จ ในการเผยแพร่เรื่องราวของพระองค์อิทธิปาฎิหาริย์ของพระองค์ก็ยังคงมีให้ผมสัมผัสอยู่

กลางปี 2009 คืนหนึ่งผมกำลังป่วย เห็นนักรบอัซเต็คกลุ่มหนึ่ง นำโดยชายหนุ่มที่งามสง่า แต่งกายแบบจักรพรรดิ

ชายหนุ่มผู้นั้น ก้าวออกมาเบื้องหน้า มองตรงมาที่ผม ยกมือขวาขึ้นเป็นสัญญาณอะไรสักอย่าง

ผมเห็นภาพนิมิตดังกล่าวอยู่นานหลายนาที ก่อนจะเลือนหายไป




ทีแรกผมนึกว่า เป็น จักรพรรดิควาอูฮ์เตมอค (Cuauhtémoc) อดีตผู้นำอัซเต็ค ในยุคที่ถูกสเปนทำลายล้างอารยธรรม และเป็นวีรบุรุษที่ผมสนใจอยู่


ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็หมายความว่า ผมเพียงแค่เพ้อไปเองด้วยพิษไข้ เท่านั้นแหละครับ

แต่ภายหลัง นึกทบทวนจากกระแสทิพย์ที่สัมผัสได้ จึงแน่ใจว่า เป็นแบบเดียวกันกับองค์จอมเทพเควตซัลโคอาทล์ ที่ไม่ได้พบเห็นมานานกว่า 30 ปี

เทพมังกรโบราณ จากอารยธรรมที่ล่มสลายไปแล้ว ย่อมน่ากลัวนะครับ สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย

แต่คืนนั้น ผมเห็นแต่ความเมตตาครับ




ภาพข้างบนนี้ เป็นภาพจอมเทพในรูปมนุษย์ ซึ่งหาดูได้ยาก เพราะไม่เป็นที่นิยมวาดกันแพร่หลาย

แต่ถึงแม้จะเป็นจินตนาการของศิลปินร่วมสมัย แต่สำหรับตัวผมเองที่เคยสัมผัสพลังทิพย์ของพระองค์มาแล้ว ยอมรับเลยว่า ภาพนี้คล้ายกับทิพยรูปของพระองค์ ในบางมุมมองมากทีเดียว

...................................

หมายเหตุ 1 : The Royal Institute of Arts (RIA Thailand) เป็นสถาบันแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมไทย-ตะวันตก ก่อตั้งโดยเอกชน เลิกกิจการไปในปี 1990

หมายเหตุ 2 : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

Saturday, March 14, 2020

อนาคตที่สวยงาม






แม้ว่า ในลัทธิศาสนา และเทวศาสตร์เม็กซิกัน จอมเทพเควตซัลโคอาทล์ (Quetzalcoatl) ซึ่งเป็นตัวแทนของพลังแห่งความดี จะพ่ายแพ้แก่ เทพอสูรเตซตาทลิโปคา (Tezcatlipoca) ซึ่งเป็นตัวแทนของพลังแห่งความชั่ว จนต้องเสด็จจากไป

แต่องค์จอมเทพก็ทรงสัญญา กับผู้ที่ยังจงรักภักดีต่อพระองค์ว่า จะเสด็จกลับมาอีกในอนาคต

ผู้คนส่วนหนึ่งของอเมริกากลาง จึงเฝ้ารอ และยังคงบูชาพระองค์มาจนกระทั่งทุกวันนี้ เพื่อจะได้หวนคืนสู่ยุคแห่งสันติสุขอีกครั้ง

ความพยายามนี้ จริงจังและต่อเนื่องครับ

จนแม้แต่ลัทธิบูชาเทพอสูรเตซคาทลิโปคา และเทพกระหายเลือดองค์อื่นๆ ยังต้องหลีกทางให้

โดยถึงเราจะไม่มีหลักฐานว่า การบูชาจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ใน กรุงเตนอชติทลัน (Tenochtitlan) นั้นเป็นอย่างไร เพราะเทวสถานทั้งหมดถูกสเปนรื้อทิ้ง เพื่อสร้างกรุงเม็กซิโกซิตี้

แต่ที่ กรุงเตโอติวาคัน (Teotihuacan) ก็มีเทวสถานของพระองค์ ซึ่งเป็นปราสาทหินแบบอัซเต็คที่ใหญ่ที่สุด นอกเหนือไปจากสุริย-จันทรเทวาลัย ที่สร้างโดยชาวเตโอติวาคันมาก่อน




ชั้นฐานของปราสาทแห่งนี้ ตกแต่งด้วยเศียรพญางูขนนกขององค์จอมเทพ สลับกับหน้ากากของ วรุณเทพทลาลอค (Tlaloc) ซึ่งเป็นมหาเทพองค์สำคัญ เทียบเท่า สุริยเทพฮวิทซิโลปอชทลิ (Huitzilopochtli) ผู้อุปถัมภ์นครเตนอชติทลันเลยทีเดียว

ซึ่งแม้จะเกิดจากคติที่ว่า ทรงเป็นเทพผู้ประทานฝน และความอุดมสมบูรณ์เหมือนกันแล้ว ในอีกแง่หนึ่ง ก็เท่ากับเป็นการนำวรุณเทพ ผู้ทรงอำนาจอย่างทลาลอค มาเสริมบารมีของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์

และแสดงให้เห็นถึงบทบาทของพระองค์ ซึ่งยังคงเป็นที่พึ่งของคนจำนวนมาก ตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีครับ

ลูกหลานอัซเต็ครุ่นต่อรุ่น ยังคงเชื่ออย่างสนิทใจว่า แม้ในยุคบรรพกาล พลังแห่งความดีจะต้องหลีกทางให้พลังแห่งความขั่ว แต่พลังแห่งความดีเท่านั้นละครับ ที่จะปกป้อง และนำมวลมนุษย์ไปสู่อนาคตที่ดีได้

ลูกหลานอัซเต็คในปัจจุบัน จึงไม่มีข้อกังขาใดๆ ในการที่จะบูชาเทพที่คนอื่นมองว่า “เป็นผู้แพ้

ด้วยว่า ในความคิดของพวกเขา อารยธรรมอัซเต็คต่างหากล่ะครับ ที่เป็นฝ่าย “แพ้” อย่างแท้จริง

จนถึงแก่กาลล่มสลาย ก็เพราะบูชาในสิ่งที่ชั่ว

และมีแต่จอมเทพเควตซัลโคอาทล์เท่านั้น ที่จะกลับมารังสรรค์โลกใหม่ที่ดีกว่าเดิม

กว่าจะถึงเวลานั้น ย่อมไม่มีอะไรดีไปกว่าการฟื้นฟูเทวศาสตร์ของพระองค์ ทั้งในด้านของพิธีกรรม เทวรูป และเครื่องราง




ซึ่งก็นับว่า โชคดีครับ ที่องค์ความรู้ในศาสตร์นี้ ยังพอมีให้ศึกษาค้นคว้าได้ในปัจจุบัน มิใช่ถูกคริสตจักรทำลายล้างจนหมดสิ้น

เทวสถานของพระองค์ ที่เตโอติวาคัน แม้จะเหลือแต่ฐาน ก็ยังมีพลังศักดิ์สิทธิ์ นักเทวศาสตร์อัซเต็คที่เคยไปประกอบพิธีที่นั่น สามารถเชื่อมต่อกับพลังดังกล่าวมาได้เป็นสิบปีแล้วครับ

ขณะที่ฝ่ายคริสตจักรก็ผ่อนปรน ให้กับพิธีกรรมของ pagan เม็กซิกันรุ่นใหม่ เช่นเดียวกับการบูชาเทพองค์อื่นๆ

จนชาวลัทธินี้คาดหวังร่วมกันว่า กว่าองค์จอมเทพเควตซัลโคอาทล์จะเสด็จกลับมา พวกเขาก็อาจจัดหาพื้นที่ที่ “สะอาด” ทั้งในเม็กซิโก และที่อื่นๆ ของโลก ได้อย่างเพียงพอที่จะต้อนรับพระองค์แล้ว




ภาพนี้ เป็นเทวปฎิมาขององค์จอมเทพ ในรูปมนุษย์ ซึ่งหาดูได้ยากในศิลปะอัซเต็ค

แต่ไม่แน่นะครับ พวกเราอาจได้เห็นงาน reproduction และ replica ที่จำลองแบบจากเทวรูปองค์นี้มากขึ้น เคียงข้างประติมากรรมพญางูขนนก บนแท่นบูชาตามบ้านของ pagan เม็กซิกันและชาวตะวันตก ภายในอีกไม่กี่ปีนับจากวันนี้


ผมเองก็รอดูอยู่เหมือนกันครับ


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

Friday, March 13, 2020

การบูชายัญ





การบูชายัญด้วยชีวิตมนุษย์ เป็นสิ่งที่ทำกันทั่วไปในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของทุกทวีป และแทบทุกชนชาติทั่วโลก

ในทวีปอเมริกากลาง ความนิยมในการบูชายัญเห็นได้ชัดมาตั้งแต่อารยธรรมระดับเมืองใหญ่ยุคแรก คือ โอลเม็ค (Olmec) เมื่อราวๆ 1.200-900 ปีก่อนคริสตกาล มีประติมากรรมที่แสดงถึงการจับคนต่างถิ่นมากระทำทารุณกรรม และบูชายัญอย่างสยดสยอง

ซึ่งการที่ชนชาตินี้ ได้เป็นต้นธารทางอารยธรรมทั้งหมด ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ก็ทำให้ผู้คนในทั้งสองภูมิภาคนี้ ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาพร้อมกับภูมิปัญญาอันสูงส่ง แต่ก็เต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นคาวเลือด อย่างต่อเนื่องเช่นกัน




โดยในอารยธรรมมายานั้น ไม่เพียงเชลยศึก หรือประชาชนทั่วไปเท่านั้นนะครับ ที่จะต้องถูกบูชายัญ แม้แต่กษัตริย์และราชวงศ์ ก็จะต้องกรีดเลือดเป็นปริมาณมากถวายแด่เทพเจ้า ในพิธีกรรมสำคัญต่างๆ 

และการทำสงครามแต่ละครั้ง หากได้ชนชั้นสูงของอีกฝ่ายมาบูชายัญ ก็เชื่อกันว่าจะเป็นที่โปรดปรานของเทพเจ้ามากเป็นพิเศษด้วยครับ

ส่วนในอารยธรรมอัซเต็ค มหาเทพที่มีความสำคัญสูงสุด ไม่ว่าจะเป็น สุริยเทพ-เทพสงครามฮวิตซิโลปอชทลิ (Huitzilopochtli) และ วรุณเทพทลาลอค (Tlaloc) ล้วนแต่โปรดการบูชายัญ




องค์เทพสงครามฮวิตซิโลปอชทลินั้น จะต้องสังเวยด้วยชีวิตของเชลยศึกคราวละมากๆ ขณะที่วรุณเทพทลาลอค โปรดการสังเวยด้วยเด็กเล็ก

การใช้เด็กเป็นเครื่องบูชายัญ เป็นแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะในเรื่องของการเกษตร แม้ว่าชนชาติเหล่านี้จะมีความรู้ด้านการกสิกรรม ในระดับที่ก้าวหน้ามากก็ตาม

ดังในช่วงปลายสมัยแห่งอารยธรรมอินคา ซึ่งมีการนำเด็กมาสังหารเพื่อสังเวยสุริยเทพเป็นประจำทุกปี

นักวิชาการส่วนหนึ่งคิดว่า เทพอสูรเตซตาทลิโปคา (Tezcatlipoca) ในเทวศาสตร์เม็กซิกัน คือ ตัวแทนของไสยศาสตร์พื้นเมือง ที่คลั่งไคล้การบูชายัญเหล่านี้ ซึ่งเดิมน่าจะเป็นนักบวช หรือไม่ก็หมอผีผู้ทรงอิทธิพลมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรืออย่างน้อย ก็น่าจะมีมาแล้วในยุคโอลเม็ค

ซึ่งก็เพราะเป็นความเชื่อพื้นฐาน ที่มีอยู่ทั่วไปในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ในระดับที่ฝังรากลึกนี่แหละครับ

เมื่อลัทธิของชนต่างถิ่นที่ทรงภูมิปัญญา และมีศีลธรรมสูง ซึ่งมีตัวแทนคือ จอมเทพเควตซัลโคอาทล์ (Quetzalcoatl) พยายามเข้ามาแก้ไข จึงทำได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ และจบลงด้วยการพ่ายแต่อไสยศาสตร์พื้นเมือง

ดังที่เทวตำนานเม็กซิกัน บรรยายถึงความล้มเหลวของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ จนต้องเสด็จจากไป

และเนื่องจากในปัจจุบันนี้ ได้มีการฟื้นฟูลัทธิบูชาสุริยเทพฮวิตซิโลปอชทลิ และวรุณเทพทลาลอค รวมทั้งเทพอัซเต็คอื่นๆ ด้วยการถวายอาหารคาวหวานและผลไม้ อย่างที่คนเรานิยมกินกันทั่วไป ไม่แม้แต่จะมีการปะปนด้วยเลือด หรือเนื้อสัตว์ดิบๆ




ซึ่งชาวเม็กซิกันที่ทำเช่นนี้ ต่างก็ยืนยันว่า ได้ผลดี เป็นที่โปรดปรานขององค์เทพเช่นกัน

ก็ทำให้นักเทวศาสตร์สรุปว่า การที่นักบวชโอลเม็ค ตอลเต็ค มายา อัซเต็ค และอินคา เผยแพร่ความเชื่อเรื่องการบูชายัญอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลานับพันปี จึงไม่น่าจะเป็นความพอพระทัยอันแท้จริงขององค์เทพ

หากแต่เป็นเพราะความเชื่อสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่ถูกพวกนักบวชนำมากล่าวอ้าง และปรุงแต่งต่อยอด เพื่อรักษาสถานะของพวกนักบวชมากกว่า

และเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารบ้านเมือง ของกษัตริย์และชนชั้นสูงด้วย

เพราะการปกครองด้วยการทำให้ประชาชนพลเมืองหวาดกลัว คิดว่ากษัตริย์และนักบวช คือตัวแทนของเทพเจ้า ซึ่งมีอำนาจชี้เป็นชี้ตายได้นั้น มันเป็นวิธีการปกครองที่ง่าย สำหรับประชาชนพลเมืองที่มีการศึกษาน้อย

และไม่มีโอกาสที่จะพบพานชนต่างถิ่น ผู้มากับลัทธิศาสนาอื่น และวัฒนธรรมอื่นไงครับ




โดยที่กษัตริย์ และนักบวชเหล่านั้นไม่คาดคิดว่า มันจะกลายเป็น ”อาถรรพณ์” ที่ทำให้ประชาชนของพวกเขาต้องพากันรับเคราะห์ และอารยธรรมของพวกเขาต้องล่มสลายลงอย่างน่าสังเวช

เหมือนกับความตายของเหยื่อบูชายัญ ที่พวกเขาหมกมุ่นกับการแสวงหามาปรนเปรอเทพเจ้า เพื่อสนองความหลงผิดเชื่อผิดของพวกเขานั่นเอง

...................................


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

Wednesday, March 11, 2020

ปริศนาแห่งพญางูขนนก






หนึ่งในความลี้ลับ ของอารยธรรมในอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ คือตำนานของ จอมเทพเควตซัลโคอาทล์ (Quetzalcoatl)

จอมเทพองค์นี้มีผู้วิเคราะห์กันไปต่างๆ ทั้งในหมู่ของนักโบราณคดี นักวิชาการหลายสาขาที่สนใจเรื่องลี้ลับ นักเทวศาสตร์ หรือแม้แต่สาวก UFO ครับ

โดยในแง่ของสาวก UFO นั้น เชื่อกันว่า ตัวตนที่แท้จริงของพระองค์ คือ มนุษย์ต่างดาว เนื่องจากทรงสั่งสอนให้บรรพชนในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ มีความรู้ที่ล้ำหน้าเกินระดับสติปัญญาของพวกเขา และล้วนเป็นความรู้ที่ไม่มีหลักฐานของการพัฒนาโดยพวกเขาเอง หรือการได้รับมาจากอารยธรรมอื่น เช่น ในด้านคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์




นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีเทพอาวุธที่ “เปลี่ยนภูเขาให้กลายเป็นหุบเขา และเจาะภูเขาให้มีสายน้ำไหลออกมาได้

ซึ่งนักวิเคราะห์สายนี้คิดว่า มันคืออาวุธเลเซอร์ หรือระเบิดของผู้มาเยือนจากกาแลคซีอื่นครับ

ในตำนานยังกล่าวด้วยว่า เมื่อพระองค์เสด็จจากไปนั้น ได้เสด็จไปโดย “เรือขนนก” ซึ่งหมายความว่าเป็นอากาศยาน หรือพาหนะที่ล่องลอยไปในท้องฟ้า เนื่องจากขนนกเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้

ดังนั้น ตำนานของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ จึงเป็นตำนานของผู้ทรงภูมิปัญญาจากอวกาศ ที่มาสั่งสอนให้มนุษย์มีอารยธรรมนั่นเอง




ในขณะเดียวกัน นักค้นคว้าเรื่องลึกลับที่มองว่าพระองค์ไม่ได้มาจากดาวดวงไหน แต่คือ นักปราชญ์ที่มาจากอารยธรรมอันรุ่งโรจน์ ที่สูญหายไปในอดีตอันไกลโพ้น เช่น แอตแลนติส หรืออาณาจักรลี้ลับอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน

ก็ชี้ให้เห็นถึงความเหมือนกัน ของบรรดาสิ่งก่อสร้างอันเก่าแก่หลายแห่ง ในอารยธรรมโบราณทั่วโลก ที่นักโบราณคดียังไม่อาจค้นคว้าหาคำตอบได้แน่ชัด ว่าล้วนแต่เป็นผลงานของทรงภูมิปัญญาจากอารยธรรมที่สาบสูญนี้ทั้งสิ้น

ซึ่งตัวอย่างหนึ่งก็คือ จอมเทพเควตซัลโคอาทล์นี่แหละครับ




และด้วยเหตุนี้ จึงมีการเชื่อมโยงพระองค์ เข้ากับ จอมเทพโอสิริส (Osiris) แห่งอียิปต์โบราณ ซึ่งก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของนักปราชญ์ ที่มาจากอารยธรรมอันสาบสูญนั้นเช่นกัน

หลายคนที่ศึกษาเทววิทยาอเมริกากลาง พากันวิเราะห์ว่า ลัทธิของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ มีองค์ประกอบหลายอย่าง ที่สอดคล้องกันดี กับตำนานจอมเทพโอสิริส จนหลายๆ คน อยากจะสรุปว่า เป็นเทพองค์เดียวกันด้วยซ้ำ

ปัญหาก็คือ ระยะเวลาที่ห่างกันมาก ระหว่างยุครุ่งเรืองของลัทธิโอสิเรียนในอียิปต์ กับร่องรอยที่เก่าที่สุด ของลัทธิการบูชาจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ในอเมริกากลางน่ะสิครับ

แล้วก็ไม่มีหลักฐานอื่นใดเลย ที่แสดงถึงการติดต่อสัมพันธ์กันของทวีปทั้งสอง

อย่างที่เคยเอ่ยอ้างกัน จากบรรดาโบราณสถานของชาวมายาและอัซเต็ค ที่ฝรั่งชอบเรียกว่า “พีระมิด” นั้น ทั้งหมดก็ล้วนเป็น “เทวาลัยบนฐานเป็นชั้น” (Temple on Step Base) เหมือนปราสาทหินรุ่นแรกๆ ของเขมร


Baksei Chamkrong Temple, Siem Reap, Cambodia

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแนวคิดทางสถาปัตยกรรม ลักษณะการใช้งาน และยุคสมัยที่สร้าง ล้วนใกล้เคียงกับเทวสถานรุ่นแรกๆ ของมายา มากกว่าพีระมิดของอียิปต์

ส่วนนักเทววิทยา และนักคติชนวิทยาที่มองความเชื่อมโยงระหว่างอารยธรรมในทวีปอเมริกากลาง-อเมริกาใต้ กับอารยธรรมเอเชียโบราณ โดยเฉพาะจีน ก็มองไปอีกอย่างครับ

อย่างแรกที่สุด ทั่วทั้งโลกนี้มีคติโบราณที่นับถืองูอยู่มากมายก็จริง อันนี้ไม่มีใครเถียง

แต่ “งูที่บินได้” หรือมังกรที่มีสถานะเป็นเทพเจ้านั้น มีอยู่เพียง 2 อารยธรรม คือ จอมเทพเควตซัลโคอาทล์ กับ พญามังกร ของจีนเท่านั้นครับ

ในขณะที่งูอื่นๆ ที่บินได้ ล้วนเป็นปีศาจและอสุรกาย คือ พญางูอโปพิส (Apophis) ของอียิปต์ และ จอมอสุรีเอคิดนา (Echidna/Έχιδνα) ของกรีก

จอมเทพเควตซัลโคอาทล์ กับพญามังกรของจีน มีลักษณะพื้นฐานที่เกือบจะเหมือนกัน คือเหาะเหินเดินอากาศได้โดยไม่ต้องมีปีก (แม้ว่าศิลปินสมัยนี้จะชอบวาดจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ให้เป็นพญางูขนนกที่มีปีกก็ตาม)

ทั้งสองยังเป็นพญามังกรผู้นำความอุดมสมบูรณ์มาให้ เป็นผู้ครองทั้งธาตุลมและฝน และทั้งสองก็มีอิทธิฤทธิ์อันร้ายแรง เกรี้ยวกราด เหมือนกันอีกด้วย




อีกทั้งยังผูกพันใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ ดังเช่น จอมเทพเควตซัลโคอาทล์ที่ผูกพันกับกษัตริย์ในตำนานยุคแรกๆ ของตอลเต็ค (Toltec)  ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นธารของลัทธิศาสนาที่บูชาพระองค์ เช่นเดียวกับพญามังกรที่ผูกพันกับสถาบันกษัตริย์ของจีน

ดังนั้นจึงมีผู้สันนิษฐานว่า จอมเทพเควตซัลโคอาทล์น่าจะเป็นพญามังกรของจีน ซึ่งย่อมจะแปลงร่างเป็นมนุษย์ได้

และด้วยเหตุผลนั้น รูปภาพของพระองค์ที่เป็นพญางูขนนก จึงได้รับความนิยมมากกว่ารูปมนุษย์อย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับพญามังกรของจีน ที่ปรากฏในรูปมนุษย์ หรือ ราชันย์มังกร (龍王) ในปริมาณที่น้อยมาก

สิ่งนี้ยืนยันโดยหลักฐานทางอ้อม คือความเหมือนกันทางศิลปวัฒนธรรมหลายๆ อย่าง ของชาวอเมริกากลาง-อเมริกาใต้กับจีนโบราณ แม้แต่สิ่งก่อสร้างบางอย่าง ก็มีพื้นฐานมาจากแนวความคิดที่เหมือนกัน ทั้งที่อยู่กันคนละซีกโลก

เรือขนนก ที่จอมเทพเควตซัลโคอาทล์ทรงใช้เป็นพาหนะนั้น ก็มิใช่อะไรอื่นนอกจาก ยานวิเศษ ที่คนจีนรู้จักกันมาแต่โบราณ โดยเรียกกันในภาษาจีนว่า “ยานเหาะ” หรือ เฟยจี (飛機) 




คำคำนี้เป็นที่รู้จักกันดีในตำนานโบราณของชาวจีนครับ ดังปรากฏว่าเมื่อพวกเขาได้พบเห็นเครื่องบินเป็นครั้งแรก ก็สามารถนำคำโบราณนี้มาเรียกมันได้ทันที ในขณะเดียวกับที่ชาวตะวันตกซึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องบินขึ้นมา ก็ยังต้องคิดคำศัพท์ใหม่เพื่อใช้กับมัน

เทคโนโลยีการบินในตำนานจีนโบราณนี้ ชนชาติเพื่อนบ้าน คือ อินเดีย ก็มีใช้เช่นกัน และเรียกว่า “วิมาน” (Vimana)

ปริศนาทั้งหมดนี้ ยังคงเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันโดยไม่มีข้อยุติ

ตราบใดที่ทิพยภาวะ (Divinity) ของเทพเจ้า ยังเป็นเรื่องที่อธิบายไม่ได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ครับ

...................................


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด