Monday, March 9, 2020

เทวสถานอินคา






ชาวอินคาต่างกับชนพื้นเมืองอื่นๆ ที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในทวีปอเมริกากลางและใต้ก่อนสมัยโคลัมบัส กล่าวคือไม่สร้างปราสาทหิน หรือเทวาลัยบนฐานเป็นชั้น แต่จะสร้างเป็นอาคารชั้นเดียวบนยกพื้นสูงแทน
         
เทวสถานอินคาทำอย่างเดียวกับอาคารสำคัญอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพระราชวัง ที่อยู่ของนักบวช บ้านขุนนาง และอาคารสาธารณะ กล่าวคือสร้างโดยการนำหินที่สกัดเป็นก้อนๆ แล้วมาวางต่อกันขึ้นไป และใช้ผนังเป็นส่วนรับน้ำหนักเครื่องบน

เทวาลัยเหล่านี้มักจะทำเป็นห้องยาว มีหน้าจั่วและหลังคาที่ก่อด้วยหิน หรือบางแห่งก็เป็นเครื่องไม้ ช่องประตูหน้าต่างก็ใช้วิธีการก่อหินเว้นไว้เป็นช่องๆ โดยเอาก้อนหินรูปยาววางพาดไว้ด้านบนระหว่างหินแท่งยาวทั้งสองข้าง ที่ทำเป็นกรอบหน้าต่างในแนวตั้ง

แต่แม้ว่าชาวอินคาจะสร้างเทวาลัยที่สำคัญที่สุด เพื่อบูชาสุริยเทพ เทวาลัยดังกล่าวก็ไม่จำเป็นต้องหันหน้าสู่ทิศตะวันออกเสมอไปหรอกครับ ทิศทางการหันหน้าเทวาลัยแต่ละแห่งขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่มากกว่า แต่โดยมากก็จะวางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้




การก่อหินของชาวอินคามีลักษณะพิเศษ คือสามารถสกัดหินแต่ละก้อนเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า จากนั้นก็วางซ้อนกันขึ้นไป โดยรอยต่อของหินแต่ละก้อนนั้นเชื่อมกันได้เรียบสนิท จนไม่สามารถจะสอดแม้แต่กระดาษแผ่นบางๆ เข้าไปได้

เปรียบเทียบง่ายๆ ว่า เหมือนกับการต่อภาพจิ๊กซอว์ (Jigsaw) หรือไม่ก็เหมือนกับเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นสี่เหลี่ยม แล้ววางต่อๆ กันขึ้นไปตามใจชอบ กว่าจะแห้งน้ำหนักของดินเหนียวเหล่านั้นก็จะกดลงทับกัน จนเชื่อมกันได้สนิท ฉันใดก็ฉันนั้นแหละครับ

แต่ข้อเท็จจริงคือ ชาวอินคาทำเช่นนี้กับหินนะครับ มิใช่ดินเหนียว

ไม่เพียงเท่านั้น หินแต่ละก้อนยังมีน้ำหนักมาก ก้อนที่ใหญ่ที่สุดนั้นได้รับการคำนวณคร่าวๆ ว่า อาจมีน้ำหนักอยู่ระหว่าง 10-15 ตัน ขณะที่โดยทั่วไปมีน้ำหนักมากกว่า 2 ตันขึ้นไป ทุกก้อนได้รับการตัดแต่ง และขัดเกลาอย่างดี

และการที่จะยกหินเหล่านี้ขึ้นไปบนอากาศ เพื่อวางซ้อนทับกันโดยปราศจากเครื่องทุ่นแรง ก็นับว่าเป็นความมหัศจรรย์พอๆ กับวิธีที่จะเอาหินแต่ละก้อนวางลงไปให้รอยต่อประสานกันได้สนิท

สิ่งที่ได้รับการยกย่องกันมาก คือ วิธีการก่อสร้างอาคารเช่นนี้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้เป็นอย่างดีครับ




กล่าวคือ เมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือนขึ้น หินแต่ละก้อนก็จะสามารถแยกตัวออกจากกันได้อย่างพอเหมาะ เมื่อหมดแรงสั่นสะเทือน หินแต่ละก้อนก็จะกลับเข้าที่ของมันตามเดิมโดยที่ตัวอาคารทั้งหมดไม่พังลง

ความสามารถในทางสถาปัตยกรรมเช่นนี้ของชาวอินคา อยู่ในระดับสูงมาก จนไม่มีภัยธรรมชาติใดๆ จะทำลายได้ โบราณสถานอินคาส่วนใหญ่ที่ถูกทำลายไป เป็นเพราะฝีมือของชาวสเปน

และชาวอินคาก็ยังคงใช้วิธีการก่อหินเช่นนี้ ในเมืองที่ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง คือ มาชู ปิคชู (Machu Picchu)

ที่นี่มีตัวอย่างเทวสถานที่สร้างอย่างสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของอินคา คือ เทวาลัยสุริยเทพ หรือ อินติวาซี (Intiwasi) ซึ่งไม่ถูกทำลายไปเหมือนกับที่เคยมีอยู่ในนครคูซโค เพราะกว่าชาวตะวันตกเพิ่งจะค้นพบมาชู ปิคชูเมื่อค.ศ.192

เทวาลัยดังกล่าวนี้ ตั้งอยู่บนจุดที่สูงที่สุดจุดหนึ่งของมาชู ปิคชู เป็นอาคารก่อด้วยหิน หันไปทางทิศใต้ และเป็นอาคารเพียงแห่งเดียวในมาชู ปิคชู ที่ส่วนหนึ่งมีผังเป็นรูปวงรี 




ภายในแบ่งออกเป็นหลายห้อง มีช่องหน้าต่างขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นตอนรุ่งอรุณได้พอดี และมีลานกว้างด้านหน้ารับประกอบพิธีกรรม ด้านหลังมีทางลงไปยังห้องเก็บมัมมี่พระศพของอดีตจักรพรรดิอีกด้วย เพื่อสะดวกในการอัญเชิญพระศพเหล่านั้นขึ้นมาร่วมประกอบพิธีกรรมนั่นเอง

ส่วนมหาเทวาลัยสุริยเทพแห่งนครคูซโค อันเป็นเทวสถานที่สำคัญที่สุดในลัทธิศาสนาอินคาโบราณนั้น ชาวสเปนได้รื้อส่วนที่เป็นอาคารหลักๆ ออกทั้งหมด แล้วสร้างโบสถ์ ซานโต โดมิงโก (Santo Domingo) ทับบนรากฐานของเทวสถานเดิม




ปัจจุบัน เราจึงพอจะมองเห็นได้แต่เฉพาะฐานสูงของเทวาลัยเดิม ซึ่งรองรับสถาปัตยกรรมแบบสเปนอยู่เท่านั้นครับ

...................................


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

No comments:

Post a Comment