Tuesday, March 10, 2020

ตำนาน ความเชื่อ และความจริง






ที่ผ่านมา หนังสือแทบทุกเล่มที่กล่าวถึงกาลอวสานของอารยธรรมต่างๆ ในทวีปอเมริกากลาง-อเมริกาใต้

 มักจะอ้างว่า ความเชื่อเรื่องการกลับมาของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ เป็นต้นเหตุแห่งความวิบัติหายนะทั้งปวง

ประเด็นนี้ ดูเหมือนจะเป็นความจริง เฉพาะกับอาณาจักรและนครรัฐเล็กๆ เท่านั้นครับ

เพราะอย่างกรณีของจักรวรรดิอัซเต็ค นักประวัติศาสตร์ก็กล่าวว่า อันที่จริงแล้ว จักรพรรดิมอคเตซูมาที่ 2 (Moctezuma II)  และชาวอัซเต็ค มิได้เห็นว่าชาวสเปนเป็นเทพเจ้า หรือสิ่งเหนือธรรมชาติแต่อย่างใด




หากแต่เห็นว่า เป็นกลุ่มชนภายนอกที่มีอำนาจสูง อันเกิดจากเสื้อเกราะ อาวุธ และม้าที่พวกเขาไม่เคยเห็น เท่านั้นแหละครับ

นักประวัติศาสตร์ชื่อดังอย่าง ฮิวจ์ โทมัส (Hugh Thomas) ยังได้เสริมว่า จริงๆ แล้ว จักรพรรดิมอคเตซูมาที่ 2 ยังทรงลังเลด้วยซ้ำไปว่า เอร์นัน กอร์เตซ (Hernán Cortéz) เป็นเทพเจ้าจริงๆ หรือเป็นทูตของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่อยู่ต่างแดนกันแน่

กรณีของจักรวรรดิอินคา ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า เมื่อองค์ จักรพรรดิอตาฮวลปา (Atahualpa) แห่งอินคา ทรงได้รับการติดต่อจาก ฟรันซิสโก ปีซาร์โร (Francisco Pizarro) พระองค์ก็มิได้ทรงระลึกถึงตำนานการกลับมาของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ (ซึ่งชาวอินคานับถือในพระนามว่า วิราโคชา : Viracocha)

พระองค์เพียงแต่ทรงมีพระราชดำริว่า จะทรงใช้กลุ่มคนผิวขาวเหล่านี้ ไปช่วยปราบกบฏในเมืองหลวงของพระองค์

ในขณะที่นครรัฐอย่าง โชลูลา (Cholula) ที่ผูกพันทุกสิ่งทุกอย่างไว้กับตำนานของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์นั้น ต้องพินาศลงเพราะความเชื่อดังกล่าว อย่างไม่มีใครปฏิเสธได้

พวกเขาเข้าใจผิดจริงๆ ครับ ว่ากอร์เตซและทหารสเปนที่เดินทางมาถึงในปีค.ศ.1519 นั้นคือองค์จอมเทพและบริวาร จึงเชื้อเชิญเข้าสู่พระราชวัง และจัดงานเลี้ยงต้อนรับอย่างเต็มที่ ขณะที่เหล่านักรบต่างปลดอาวุธของพวกตนอย่างมีความสุข รอดูว่าคนผิวขาวจะพูดอะไร




ผลก็คือ หลังจากอิ่มหมีพีมันกับอาหารรสเลิศ ทหารสเปนก็ฆ่าเจ้าภาพ และชนชั้นปกครองทุกคนในที่นั้นไปกว่า 1,000 คน โชลูลาถึงแก่กาลวิบัติ โดยไม่มีใครเข้าใจว่า พวกเขาทำอะไรผิด

เหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้ เกิดขึ้นกับบ้านเล็กเมืองน้อยอื่นๆ ในอเมริกากลางด้วยเหมือนกันครับ

แต่ส่วนมากจะเกิดจากความลังเล เพราะเชื่อตำนานจนตัดสินใจไม่ถูก ทำให้มีเวลาน้อยเกินกว่าจะรับมือชาวสเปนได้

ซึ่งจะว่าไปแล้ว การที่พวกเขาไม่มีอาวุธที่ดีพอ ก็ไม่ถึงกับเป็นปัจจัยสำคัญหรอกครับ

ตัวอย่างเช่น กรณีของอัซเต็ค




ทันทีที่รู้ชัดว่าอะไรเป็นอะไร พวกเขาก็โต้กลับ ด้วยการฆ่าทหารสเปนได้กว่า 500 ศพภายในคืนเดียว โดยไม่ครณาต่ออาวุธอันทรงประสิทธิภาพ และเกราะเหล็กของทหารสเปนแม้แต่น้อย

จนนักประวัติศาสตร์มองว่า ความพ่ายแพ้ในท้ายที่สุดของชาวอัซเต็ค เกิดจากโรคฝีดาษ ที่ชาวสเปนนำเข้าไปอย่างแท้จริง

มิฉะนั้น ก็คงเป็นการยากละครับ ที่สเปนจะพิชิตจักรวรรดิแห่งนักรบอย่างอัซเต็ค ด้วยทหารเพียงไม่กี่ร้อยนาย และพันธมิตรอย่างชาวทลักซคาลัน (Tlaxcalán) ซึ่งก่อนหน้านั้นก็พ่ายแพ้อัซเต็คมาตลอด




ส่วนอารยธรรมมายา ยิ่งไม่ได้รับผลอันใด จากความเชื่อเรื่องการกลับมาของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์

เพราะเมื่อพวกเขารับลัทธิบูชาพระองค์ (ในพระนามว่า กูกูลตัน : Kukulcán) จากชาวตอลเต็ค (Toltec) ตั้งแต่ ค.ศ.987 พวกเขาก็มีภาพจำเกี่ยวแก่พระองค์อยู่แล้วละครับ ว่าทรงเป็นชาวเม็กซิกัน ไม่ใช่ฝรั่งผิวขาวไว้หนวดเครา

ซึ่งเมื่อเผชิญหน้ากัน พวกเขาก็ได้ต่อสู้อย่างสุดความสามารถ และสมศักดิ์ศรี ก่อนจะเป็นฝ่ายปราชัยเหมือนอัซเต็ค




ดังนั้น จึงไม่ใช่ตำนานของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์หรอกครับ ที่เป็น “สูตรสำเร็จ” หรือต้นเหตุทั้งหมด สำหรับการล่มสลายของอารยธรรมต่างๆ ในอเมริกากลาง-อเมริกาใต้

ปัจจัยที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ การล่าอาณานิคมของสเปน ที่ฝรั่งด้วยกันจงใจหลีกเลี่ยงไม่พูดถึง

แต่ผมคิดว่า ต้นเหตุที่แท้จริงที่สุด คือ ภูมิภาคที่อารยธรรมเหล่านั้น ก่อเกิดขึ้นมา

นั่นก็คือ ชะตากรรมที่พวกเขาได้รับ เป็นเพราะพวกเขาไม่ได้อยู่ในเส้นทางการค้าเหมือนชาวเอเชีย

ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ไทยเรานี่แหละครับ

จะเห็นว่า อารยธรรมอัซเต็คและอินคา ล้วนแต่เจริญขึ้นมาในยุคสมัยเดียวกับกรุงศรีอยุธยา และปัตตานีของเรา

และการเผชิญหน้ากับฝรั่งตะวันตกเป็นครั้งแรก ก็อยู่ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน

แต่อยุธยา และปัตตานีของเรา ก่อเกิดในเส้นทางการค้าระหว่างหลายๆ ชนชาติ ทั้งทางตะวันออกและตะวันตกมานับพันปี ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ศิลปวิทยา และเทคโนโลยีใหม่ๆ จากชนชาติเหล่านั้นมานาน จนไม่ใช่เรื่องแปลก

พอถึงยุคที่ฝรั่งมาเยือน เราจึงมีแทบทุกอย่างที่ฝรั่งมี และมีแม้กระทั่งทหารรับจ้างที่เป็นฝรั่ง

ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันนั้น ชาวมายา อัซเต็ค และอินคา ไม่มีอาวุธ หรือเครื่องไม้เครื่องมือที่ทำด้วยเหล็กหรือสำริด ไม่รู้จักแม้กระทั่งการใช้ม้า หรือพาหนะที่มีล้อ




และการที่เราเป็นเมืองท่าสำคัญ มีหลายสิบชนชาติแวะเวียนติดต่อค้าขาย รวมทั้งเรียนรู้ศิลปวิทยาจากภายนอกได้เร็ว ก็ทำให้เราได้พบเจอกับฝรั่งที่สนใจแต่เรื่องการพาณิชย์ อย่างโปรตุเกสและฮอลันดา

ไม่ใช่ฝรั่งโฉดที่ “บ้าทองยังกับหมู” (สำนวนอินคา) อย่างสเปน

จึงสรุปได้ว่า ไม่ใช่ “ความเชื่อ” หรอกครับ ที่ทำให้อารยธรรมในอเมริกากลาง-อเมริกาใต้มีจุดจบที่น่าเศร้า

แต่เป็น “ความรู้” และ “ประสบการณ์” นั่นเอง


...................................


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด


No comments:

Post a Comment