Saturday, March 7, 2020

จักรวรรดือินคา






ชนชาติอินคา (Inca) อพยพมาตั้งหลักแหล่งบนเทือกเขาแอนดิส (Andes) ในทวีปอเมริกาใต้ ณ ดินแดนซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเปรูและโบลิเวีย เมื่อประมาณค.ศ.1000

โดยมี นครคูซโค (Cuzco) ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบสูงเหนือระดับน้ำทะเล 3,500 เมตรเป็นศูนย์กลาง

นับเป็นเรื่องแปลกครับ ที่อาณาจักรนี้ตั้งอยู่ในเขตที่มีลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ ที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมการดำรงชีวิตอย่างแท้จริง ซึ่งในโลกของเรา มีดินแดนที่เหมาะสมเช่นนี้เพียงสองสามแห่งเท่านั้น

นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า ชาวอินคา สืบเชื้อสายมาจากชาวอินโด-อารยันโบราณ ขณะที่นักมานุษยวิทยาบางท่านได้ระบุว่า อาจสืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าเควชัว (Quechua) ที่อาศัยอยู่บนที่ราบสูงทางภาคใต้นั้นเอง

ในช่วงแรก ชาวอินคาปกครองเพียงนครคูซโคเท่านั้น แต่ต่อมาก็ขยายอิทธิพลครอบคลุมชนเผ่าต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ออกไปเรื่อยๆ

จนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 15 อาณาจักรอินคาได้ขยายพรมแดนกว้างไกลไปจนถึงดินแดนแถบชายฝั่งทะเล และจากเขตเอกวาดอร์ไปจนถึงลุ่มแม่น้ำมอลในชิลี ครอบคลุมพื้นที่ถึง 1,950,000 ตารางกิโลเมตร

ชาวอินคาเรียกชื่อจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่นี้ว่า เตฮวนตินซูยู (Tehuantinsuyu) หมายถึง มหาอาณาจักรแห่งโลก

อินคามีอารยธรรมอันสูงส่ง ที่เป็นแบบอย่างแก่ชนเผ่าแถบอเมริกาใต้มานานนับพันๆ ปีคือ รูปแบบการจัดระเบียบทางสังคมครับ





โดยการแบ่งชนชั้นของอินคา นับว่าเป็นระบบที่จัดลำดับไว้ดีมาก ชาวอินคาทุกคน นับตั้งแต่จักรพรรดิ ลงมาจนถึงบุคคลชั้นต่ำ ชาวไร่ชาวนา จะรู้จักตำแหน่งหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี ทั้งในการปรับตัว และการทำงานตามภาระหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ และมีอิสระเสรี ระดับชนชั้นมีดังนี้ :

1. จักรพรรดิ และอัครมเหสี

2. นักบวชชั้นสูงสุดและผู้บัญชาการกองทัพสูงสุด

3. ผู้บริหารระดับสูงทั้งสี่ เรียกว่า เอ-ปัซ

4. ผู้บริหารชั้นพิเศษ เช่น กลุ่มคณะลูกขุน กลุ่มสถาปนิก

5. ช่างฝีมือ ช่างโลหะ ช่างไม้ นักดนตรี ศิลปิน

6. ประชาชนทั่วไป

จักรวรรดิอินคายังเป็นที่โจษขานถึงความร่ำรวย จากปริมาณการผลิตทองคำ ซึ่งเป็นสิ่งที่นำความวิบัติหายนะ มาสู่พวกเขาโดยแท้

แทบไม่น่าเชื่อว่า ชาวอินคารู้จักวิธีถลุงแร่ทองคำขึ้นมาใช้ ถึงกับมีเหมืองทองคำหลายแห่ง เหมืองเหล่านี้สามารถลำเลียงทองคำส่งไปยังคูซโคปีละ 7000,000 ออนซ์เลยทีเดียว

ทองคำเหล่านี้ ได้ใช้ทำเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ เครื่องราชูปโภค ตลอดจนตกแต่งภายในพระราชวังอย่างหรูหรา

อีกทั้งภายหลังจักรพรรดิแต่ละองค์เสด็จสวรรคตแล้ว ยังมีการหล่อพระรูปทองคำขนาดเท่าพระองค์จริง สำหรับให้ประชาชนสักการบูชากันด้วย




เมื่อครั้งถูกสเปนพิชิต และจักรพรรดิขณะนั้นทรงถูกจับเป็นเชลย พระองค์ได้เสนอมอบสมบัติที่เป็นทองคำทั้งหมด บรรจุภายในห้องขนาดยาว 25 ฟุต กว้าง 15 ฟุต สูง 5 ฟุต เป็นค่าไถ่พระองค์ เล่ากันว่า สมบัติเหล่านั้นมีมูลค่ามากกว่า 13,000,000 เปโซ

ความมั่งคั่งร่ำรวยของจักรวรรดิอินคา มิได้มีอยู่แต่เฉพาะเรื่องของทองคำเท่านั้น แต่ยังเกิดจากระบบเศรษฐกิจที่เลี้ยงตนเองได้อย่างพอเพียง โดยชาวอินคาที่อาศัยบนที่ราบสูง จะเลี้ยงสัตว์และทำการเพาะปลูกแบบขั้นบันได โดยมีระบบชลประทานที่ก้าวหน้ากว่าอีกหลายๆ ชนชาติในโลกนี้ ที่ทำการเพาะปลูกแบบเดียวกัน

ขณะที่ในแถบลุ่มแม่น้ำอเมซอนที่เป็นป่าทึบ และฝนตกหนัก ก็มักได้ผลผลิตเป็นผลไม้ หนังสัตว์ และขนนก ส่วนด้านชายฝั่งทะเลทำการประมง




ซึ่งเมื่อนำมาแลกเปลี่ยนกันระหว่างเมืองต่างๆ รวมทั้งส่งเป็นเครื่องราชบรรณาการไปยังคุซโค ให้ชนชั้นสูงที่นั่นได้กินใช้กันอย่างฟุ่มเฟือยแล้ว ก็ยังต้องกล่าวว่า “คนจนเป็นสิ่งที่หายากในจักรวรรดิอินคา

ส่วนความเจริญในด้านภูมิปัญญานั้น แม้อารยธรรมอินคาจะไม่มีการใช้ตัวอักษร แต่พวกเขาก็ใช้เชือกผูกเป็นปม และย้อมสีต่างๆ เป็นสัญลักษณ์ แทนภาษาพูดและภาษาเขียนที่สื่อสารระหว่างกัน เป็นกระบวนการบันทึกความจำที่ไม่ซ้ำแบบใครในโลกนี้ เรียกว่า ควีปู (Quipu)

วิธีเช่นนี้ยังใช้รวมไปถึงการนับ ซึ่งมีทั้งสัญลักษณ์แทนเลขศูนย์ จนกระทั่งนับถึงเลขจำนวนพัน โดยเอาเลข 10 เป็นพื้นฐานอีกด้วย

ความเจริญรุ่งเรืองของอินคา ยังรวมไปถึงด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และวิศวกรรมโยธา เป็นต้น

เมืองขนาดใหญ่แทบทุกเมือง มักจะมีผังเมืองคล้ายคลึงกัน นั่นคือ จะต้องมีวังที่ประทับสำหรับกษัตริย์หรือจักรพรรดิทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ใกล้วังที่ประทับ มักจะเป็นบริเวณที่พักของนางห้าม ซึ่งเป็นเขตลับตา และที่พักของผู้ว่าการประจำเมือง มีถนนหนทางหลักตัดออกไปทางทิศเหนือ และทิศใต้จะมีจุดรับข่าวสารควีปู




ใจกลางเมืองมักจะเป็นลานกว้าง รอบบริเวณด้านทิศต่างๆ จะเป็นศูนย์บริหารราชการด้านต่างๆ ส่วนด้านตะวันตกเฉียงใต้ จะมีบริเวณที่สร้างอาคารเก็บเสบียงอาหารไว้บริโภคตลอดปี ด้านตะวันตกเฉียงเหนือ มีเขตที่พักของบรรดาช่างฝีมือเพื่อผลิตงานตามพระบัญชาขององค์จักรพรรดิ และสำหรับใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา

ชาวอินคารู้จักทำถนน ซึ่งวางระบบในการเชื่อมโยงพื้นที่ต่างๆ ภายในราชอาณาจักรได้เป็นอย่างดีเยี่ยม จนได้รับการยกย่องว่า เป็นรองเพียงถนนของชาวโรมัน ซึ่งเป็นถนนที่ดีที่สุดในโลกโบราณเท่านั้นเชียวละครับ

ถนนและสะพานของอินคา เชื่อมต่อกันเป็นระยะทาง15,000 ไมล์ หรือ 25,000 กิโลเมตร ทำให้สามารถควบคุมผู้คนที่อยู่ในดินแดนห่างไกลได้กว่าล้านคน โดยผู้คนเหล่านั้น ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าในแถบเดียวกับที่พวกอินคาไปพิชิตมาได้นั่นเอง

แต่แม้จะมีถนนที่ดีขนาดนี้ ก็เพียงเพื่อรองรับการเดินทางด้วยเท้าเท่านั้นแหละครับ




เพราะชาวอินคายังไม่รู้จักใช้รถลาก หรือเกวียน พาหนะอย่างเดียวเท่าที่ทราบคือ ตัวอัลปากา (Alpaca) ซึ่งเป็นสัตว์ประเภทเดียวกับตัวจามรี และอูฐ ที่พวกเขาใช้ขนของ โดยมีที่พักตามรายทางเป็นระยะทางเดินเท้าประมาณ 1 วัน 

ในการขยายอำนาจ แม้กองทัพอินคาส่วนใหญ่ จัดว่าเป็นกองทัพทหารเกณฑ์อย่างแท้จริง แต่ก็สามารถรบชนะชนเผ่าต่างๆ และหลังจากปีค.ศ.1437 ก็ไม่เคยรบแพ้ใคร จนกระทั่งได้พบกับทหารสเปนในปีค.ศ.1532

ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็ต้องพูดว่าพวกเขา “แพ้โดยไม่มีโอกาสได้รบ” ด้วยซ้ำไปครับ

จากที่กล่าวมาแล้วอย่างคร่าวๆ ก็พอจะสรุปได้นะครับว่า อารยธรรมอินคามีความเจริญรุ่งเรืองในด้านต่างๆ มากมายจนแทบไม่น่าเชื่อ นับเป็นอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้อย่างแท้จริง

แต่ประเด็นที่ยังเป็นปริศนามาจนกระทั่งทุกวันนี้ก็คือ ชาวอินคาได้รับมรดกทางวัฒนธรรมระดับสูงเหล่านี้มาจากไหน?

เพราะเมื่อตั้งนครคุซโคในประมาณค.ศ.1000 หลักฐานทางโบราณคดีก็แสดงให้เห็นว่า พวกเขามีสิ่งเหล่านี้กันอยู่แล้วอย่างแทบจะ “เต็มรูปแบบ

ไม่มีร่องรอยของการเริ่มต้น หรือพัฒนาการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เหมือนชนชาติอื่นๆ ในโลกนี้เลยครับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อสเปนมาถึงในช่วงที่จักรวรรดิแห่งนี้รุ่งเรืองถึงขีดสุด พวกเชาก็ทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยความโลภเพียงอย่างเดียวเท่านั้นเอง

...................................


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด


No comments:

Post a Comment