Saturday, February 29, 2020

จักรวรรดิอัซเต็ค ตอนที่ 3






ในปีค.ศ.1519 กองกำลังสำรวจของสเปน 630 นาย นำโดย เอร์นัน กอร์เตซ (Hernán Cortéz) ก็ได้มาถึงคาบสมุทรยูคาตัน (Yucatán) 

กอร์เตซนั้น ได้รับการยกย่องในประวัติศาสตร์ว่าเป็น “ผู้พิชิต” หรือ กองกิสตาดอร์ (Conquistador) แต่โดยภูมิหลังแล้ว เขาคืออาชญากรที่หลบหนีคดีมาจากคิวบา และกำลังเป็นที่ต้องการตัวของ ดิเอโก เบลัซเกซ (Diego Velásquez) ผู้ว่าราชการที่นั่น

คณะของกอร์เตซ ได้สำรวจลึกเข้ามาถึงตอนในของแผ่นดิน พวกเขาประสบความสำเร็จในการพบปะกับชนเผ่า และบ้านเล็กเมืองน้อยตามรายทาง อันเนื่องมาจากพวกเขามีล่ามอย่าง บาทหลวง เจโรนีโม เด อากีลาร์ (Gerónimo de Aguilar) ซึ่งเคยสำรวจดินแดนแถบนี้มาก่อนแล้ว และมีความรู้ด้านภาษามายา กับ มาลินท์ซิน (Malintzin) ทาสสาวชาวมายา ซึ่งพูดภาษานาวาทล์ได้

โดยในการเจรจาแต่ละครั้ง บาทหลวงเด อากีลาร์จะแปลภาษาสเปนเป็นมายา และมาลินท์ซินจะแปลจากมายาเป็นภาษานาวาทล์อีกทีหนึ่ง

ทาสสาวผู้นี้ ภายในเวลาไม่นานก็รู้ภาษาสเปนมากพอสมควร และถูกมองว่า เป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้จักรวรรดิอัซเต็คล่มสลายครับ

กอร์เตซมาถึงในช่วงเวลาที่เมืองขึ้นต่างๆ ของจักรวรรดิอัซเต็ค กำลังเป็นกบฏ และหาทางแยกตัวเป็นอิสระ

อีกทั้งยังเกิดคำเล่าลือทั่วไปว่า เขาคือ จอมเทพเควตซัลโคอาทล์ (Quetzalcoatl) เสด็จกลับมา ตามคำพยากรณ์ที่ว่า พญางูขนนกองค์นี้จะเสด็จกลับมาในปีที่กอร์เตซเข้ามายังเม็กซิโกพอดี

เขาจึงได้รับความเป็นมิตร และการสนับสนุนจากบรรดาเมืองขึ้น รวมัทั้งศัตรูของจักรวรรดิอัซเต็คเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพวกโตโตนัค (Totonác) และ ทลักซ์คาลัน (Tlaxcalán)

พวกนี้ยังเล่าให้คณะสำรวจ และทหารสเปนฟัง ถึงความร่ำรวยของจักรวรรดิอัซเต็ค ทำให้กอร์เตซและลูกน้องถึงกับตาลุกวาว เขาตัดสินใจนำกองทหาร 630 นาย มุ่งสู่กรุงเตนอชติทลัน แม้จะรู้ว่า มีนักรบอัซเต็คนับหมื่นอยู่ที่นั่น




เมื่อทราบข่าวการมาถึงของกอร์เตซ พร้อมกับข่าวลือเรื่องการกลับมาของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์  ด้วยความเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง จักรพรรดิมอคเตซูมาที่ 2 ทรงส่งทหารไปรับมือกับพวกสเปน

แต่นักรบอัซเต็ค ไม่เคยเห็นทั้งเกราะเหล็ก ดาบ ปืนคาบศิลา ปืนใหญ่ และม้า จึงพ่ายแพ้ตั้งแต่การรบครั้งแรก

ครั้นเมื่อองค์จักรพรรดิส่งทหารไปอีก แม้นักรบเหล่านั้นจะเริ่มเรียนรู้ถึงอานุภาพของปืนใหญ่ และหมวกเหล็ก-เกราะเหล็ก ที่ทนทานต่อ มาควาวิทล์ (Macuahuitl : กระบองไม้ฝังหินมีคม) ซึ่งเป็นอาวุธที่ดีที่สุดของพวกเขา แต่เมื่อสิ่งเหล่านี้ใหม่เกินกว่าที่นักรบอัซเต็คจะหาทางแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น ทุกกองทัพที่จักรพรรดิมอคเตซูมาที่ 2 ส่งไป ก็ยังคงไม่อาจต้านทานการบุกรุกของสเปนได้

ดังนั้น พระองค์จึงส่งคณะทูตไปพบกับคณะสำรวจ ที่รุกคืบมาถึงพื้นที่ที่ปัจจุบันนี้คือ เวราครูซ (Veracruz) เพื่อมอบเครื่องบรรณาการ และเกลี้ยกล่อมให้พวกเขากลับไป

แต่ในที่สุด หลังจากเสียเวลา 8 เดือน ไปกับการสู้รบ และการเจรจา กอร์เตซก็สามารถเอาชนะการต่อต้านของทางจักรวรรดิได้อย่างหมดจด เขานำทหารโจรเพียงหยิบมือ ยาตราเข้าสู่มหานครอันเจิดจรัสที่สุดในอเมริกากลาง อย่างไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งได้อีกต่อไป

ด้วยความหวังที่จะหลีกเลี่ยงสงคราม จักรพรรดิมอคเตซูมาที่ 2 ตัดสินพระทัยผิดครั้งใหญ่ จนนำมาซึ่งอวสานของจักรวรรดิ และพระชนม์ชีพองพระองค์เอง




พระองค์ทรงยินยอม ให้กอร์เตซเดินทางเข้าสู่ใจกลางของจักรวรรดิอัซเต็ค โดยไม่มีการต่อต้านใดๆ อีก กอร์เตซมาถึงกรุงเตนอชติทลันในวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ.1519

พวกเขาได้รับการต้อนรับ ในฐานะแขกของจักรพรรดิ และได้รับอนุญาตให้พำนักในพระราชวังของ อดีตจักรพรรดิอักซายาคาทล์ (Axayacatl) นับว่าได้รับเกียรติอย่างมาก

ซึ่งพวกสเปนไม่สำนึกแต่อย่างใด พวกเขาต้องการเพียงแต่ทองคำ และความร่ำรวยของจักรวรรดิเท่านั้น

การตัดสินพระทัยของจักรพรรดิมอคเตซูมาที่ 2 ทำให้ขุนนางอัซเต็คที่ปกครองอยู่ตามหัวเมืองไม่พอใจ และเริ่มมีการโจมตีทหารสเปน รวมทั้งชนเผ่าพื้นเมืองที่สมคบกับพวกสเปนด้วย

ซึ่งแสดงให้เห็นชัดว่า พระราชอำนาจขององค์จักรพรรดิกำลังถดถอยครับ

หลังจากคณะของกอร์เตซอยู่ที่เตนอชติทลันได้ 6 สัปดาห์ ก็ได้ข่าวว่า นักรบอัซเต็คได้โจมตี และฆ่าทหารของเขา รวมทั้งพันธมิครโตโตนัคในเวราครูซตายไปเป็นจำนวนมาก

กอร์เตซใช้เหตุการณ์นี้ เป็นข้ออ้างที่จะควบคุมองค์จักรพรรดิไว้ในพระราชวัง และปกครองกรุงเตนอชติทลันด้วยตนเองเป็นเวลาหลายเดือน

ในปีค.ศ.1520 เบลัซเกซ ผู้ว่าการคิวบา ส่งกองกำลังนำโดย ปันฟิโล เด นาบาเอซ (Pánfilo de Narváez) มาจับกุมกอร์เตซ ที่่ฝ่าฝืนกฎหมายขโมยเรือหนีมา

กอร์เตซแต่งตั้ง เปโดร เด อัลบาราโด (Pedro de Alvarado) คนสนิทของเขา ให้ดูแลกรุงเตนอซติทลันชั่วคราว

ส่วนตัวเขากับทหารส่วนหนึ่ง ออกไปรับมือกับกองทัพของเด นาบาเอซ ซึ่งเขาสามารถใช้กลอุบายล่อลวงให้นายกองของฝ่ายตรงข้ามมาเข้าร่วมกับตน จนทำให้เด นาบาเอซไม่สามารถจับกุมเขาได้

ในขณะเดียวกันกับที่กอร์เตซไม่อยู่ จักรพรรดิมอคเตซูมาที่ 2 ทรงขออนุญาตเด อัลบาราโด ในการจัดงานเทศกาล ตอกซ์คาทล์ (Toxcatl) ซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญของจักรวรรดิ ในการบูชา เทพอสูรเตซคาทลิโปคา (Tezcatlipoca) ณ มหาปราสาทแห่งกรุงเตนอชติทลัน

ซึ่งเด อัลบาราโดก็อนุญาตครับ

แต่เมื่อเทศกาลเริ่มขึ้น เด อัลบาราโดกลับสั่งให้ทหารสเปนสังหารหมู่ชาวอัซเต็ค ที่ไปร่วมงานอย่างสยดสยอง




เป็นเหตุการณ์ที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า Massacre in the Great Temple ซึ่งตรงกับวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ.1520

โดยสเปนอ้างว่า ที่เด อัลบาราโดทำเช่นนี้ เพราะต้องการช่วยชีวิตคนที่จะถูกบูชายัญ เพื่อบูชาเทพสงคราม ฮวิตซิโลปอชทลิ (Huitzilopochtli)

แต่บันทึกของชาวอัซเต็คระบุว่า พวกสเปนเห็นทองคำที่ชนชั้นสูงและคหบดีอัซเต็คสวมใส่ไปงานเทศกาล จึงเกิดความโลภ และทะเลาะวิวาทกับคนเหล่านั้น ทำให้กลานเป็นการจลาจล

การสังหารหมู่ดังกล่าว ทำให้ประชาชนที่ไปร่วมงานเทศกาล พากันล้มตายเป็นใบไม้ร่วง พวกเขาไม่มีอาวุธติดมือ และไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมีเรื่องร้ายเกิดขึ้น
.
ดังนั้น ความอดทนของชาวอัซเต็คจึงสิ้นสุด

บรรดาขุนศึก และนักรบอัซเต็คพากันล้อม และโจมตีพระราชวังเก่าที่กองทัพสเปนพำนักอยู่ โดยไม่รอฟังพระบัญชาจากองค์จักรพรรดิอีกต่อไป

กอร์เตซกลับมาถึงกรุงเตนอชติทลันพอดี เขานำทหารสเปนฝ่าฝูงชนเข้าไปในพระราชวังหลวง คุมองค์จักรพรรดิมอคเตซูมาที่ 2 ขึ้นบนกำแพงพระราชวัง เพื่อทรงมีพระราชโองการให้ประชาชนของพระองค์สงบลง




แต่ในช่วงนั้น สภาขุนนางเตนอซติทลันได้พากันลงมติ ปลดจักรพรรดิมอคเตซูมาที่ 2 จากราชบัลลังก์ และเลือกพระอนุชาคือ เจ้าชายควิทลาวัค (Cuitlahuac) เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 10 แล้ว

ดังนั้น เมื่ออดีตจักรพรรดิมอคเตซูมาที่ 2 เสด็จขึ้นไปบนกำแพง พระองค์ก็ทรงถูกทหารและประชาชนระดมกันขว้างก้อนหินใส่ จนสิ้นพระชนม์

หลังการสวรรคตของอดีตจักรพรรดิมอคเตซูมาที่ 2 กองทัพสเปนพยายามหลบหนีออกจากกรุงเตนอซติทลัน ในคืนวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ.1520




จักรพรรดิควิทลาวัค ทรงพระบัญชาให้นักรบของพระองค์โจมตีพวกสเปน ที่กำลังหอบหิ้วทรัพย์สมบัติพะรุงพะรัง ข้ามสะพานไปยังชายฝั่งทะเลสาบเต็กซ์โคโค ดังนั้นเกราะเหล็ก ปืน และดาบ ไม่อาจคุ้มกันทหารโจรเหล่านี้ได้อีกต่อไป

กอร์เตซพาคนของเขาตีฝ่าออกไปได้ราวๆ 50 คนเท่านั้น ที่เหลือกลายเป็นศพเกลื่อนกลาดอยู่บนสะพาน ถนน และจมอยู่ในคลองของกรุงเตนอชติทลัน

นักประวัติศาสตร์สเปนเรียกเหตุการณ์นี้ว่า คืนวิปโยค (La Noche Triste : The Night of Sorrows)

กอร์เตสพาบริวารโจรที่รอดตาย หนีไปซ่องสุมกำลังพลที่ทลักซคาลัน เขาติดต่อกับรัฐบาลสเปน จนได้ทหารใหม่มาอีกหลายร้อยนาย

ส่วนจักรพรรดิควิทลาวัค ฉลองชัยชนะได้ไม่นาน ก็เกิดโรคระบาดในกรุงเตนอซติทลัน

มัoตือ โรคฝีดาษ ซึ่งมากับชาวสเปน และชาวอัซเต็คไม่มีภูมิคุ้มกันโรคนี้ครับ

ผู้คนในกรุงเตนอชติทลัน จึงได้ล้มตายไปราวๆ 70% รวมทั้งองค์จักรพรรดิเองด้วย
.
จักรพรรดิหนุ่ม ควาอูฮ์เตมอค (Cuauhtémoc) จักรพรรดิองค์ที่ 11 ครองราชย์ต่อจากจักรพรรดิควิทลาวัค ในขณะที่พระองค์กำลังทรงวุ่นวายกับโรคฝีดาษ กองทัพของกอร์เตซก็กลับมา

ครั้งนี้ กองกำลังสเปนได้ไพร่พลเพิ่มจากชนเผ่าทลักซ์คาลัน นำโดย ซิโคเตนคาทล์ ผู้ลูก (Xicotencatl the Younger) และชนเผ่าอื่นๆ ที่เป็นศัตรูกับจักรวรรดิอัซเต็ค เข้าล้อมกรุงเตนอซติตลัน รวมทั้งพันธมิตรอย่างทลาโคปัน และเต็กซ์โคโค

จนในที่สุด เต็กซ์โคโคต้องแปรพักตร์ไปเข้ากับสเปน เพื่อเอาตัวรอด

แม้จะเหลือนักรบอยู่เพียงหยิบมือ ทั้งยังเผชิญกับโรคฝีดาษที่ฆ่าคนในเมืองทุกวัน แต่องค์จักรพรรดิควาอูฮ์เตมอค ก็ทรงป้องกันนครเตนอชติทลันไว้ได้เป็นเวลาหลายเดือน ก่อนจะล่มสลาย




กองกำลังผสมสเปนและทลักซ์คาลัน ได้รับชัยชนะเหนือจักรวรรดิอัซเต็ค ในวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ.1521 ทั่วทั้งกรุงเตนอชติทลันถูกปล้นสะดมภ์และเผาทำลาย จักรพรรดิควาอูฮ์เตมอคทรงต่อสู้จนสิ้นพระกำลัง ถูกจับเป็นเชลย

ซึ่งกอร์เตซได้สั่งจองจำ และทรมานพระองค์เป็นเวลานานถึง 4 ปี ก่อนประหารในปีค.ศ.1525
.
การล่มสลายของจักรวรรดิอัซเต็ค เป็นเหตุการณ์สำคัญอย่างยิ่งในการสถาปนา เขตอุปราชแห่งสเปนใหม่ ซึ่งยังมิได้รับรองอย่างเป็นทางการโดยราชวงศ์สเปน จนกระทั่งปีค.ศ.1535 หลังจากการพิชิต 14 ปี




ในระหว่างนั้น สเปนได้ทำลายวัฒนธรรมและศาสนาของชนพื้นเมืองอย่างต่อเนื่อง บังคับให้ผู้คนที่เหลืออยู่เข้ารีตในนิกายโรมันคาธอลิค

เรื่องราวของการปฏิบัติต่อชาวพื้นเมืองอย่างโหดร้ายของสเปน ยังคงเล่าผ่านชาวอัซเต็ค และผู้สืบสายมาจนทุกวันนี้

...................................


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

Friday, February 28, 2020

จักรวรรดิอัซเต็ค ตอนที่ 2






สภาพสังคมของอัซเต็ค มีความซับซ้อน มีกษัตริย์และราชวงศ์อยู่ชนชั้นบนสุดของสังคม

แต่การสืบราชบัลลังก์ของอัซเต็ค มาจากการเลือกตั้งครับ ไม่ใช่การสืบราขสันตติวงศ์

และอำนาจการเลือกตั้งนั้น อยู่ในมือของสภาขุนนาง ซึ่งมีทั้งนักชวชชั้นสูง ขุนนาง นักรบ และราชวงศ์

สภาจะทำการปรึกษากับสองพันธมิตร คือเต็กซ์โคโคและทลาโคปัน แล้วเลือกบุคคลที่เมาะสมที่สุด แต่ก็มักจะเป็นสมาชิกในราชวงศ์ของกษัตริย์พระองค์ก่อน

ชนชั้นต่อมาคือ ขุนนาง ข้าราชการ นักรบ คนกลุ่มนี้มีฐานะมั่งคั่ง เพราะได้รับค่าตอบแทนจากกษัตริย์ ทั้งรายได้จากที่ดินหลวงที่กษัตริย์จัดสรรให้ และสืบทอดทรัพย์สมบัติไปยังลูกหลาน

อีกกลุ่มหนึ่ง คือ นักบวช ซึ่งต้องครองพรหมจรรย์ และมีความรู้สูง เป็นผู้มีอำนาจพิเศษในการติดต่อกับเทพเจ้า จึงได้รับการนับถือจากคนทุกชั้นรรณะ




พวกเขาได้สร้างปฏิทิน 2 แบบ โดยการศึกษาดวงอาทิตย์ ดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ แบบแรกคือปฏิทินการเกษตร ซึ่งทำนายเวลาแห่งการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยว

อีกแบบคือ ปฏิทินทางศาสนา ที่กำหนดเวลาสำหรับทำพิธีกรรมสาธารณะมากมายในแต่ละปี

พ่อค้า เป็นอีกชนชั้นหนึ่งที่ร่ำรวย แต่ไม่เหมือนพ่อค้าของชนชาติอื่นๆ เนื่องจาdเมื่อพวกเขาไปค้าขายยังเมืองต่างๆ พวกเขาจะทำหน้าที่สอดแนม จัดหาข้อมูลทางทหารแก่กองทัพอัซเต็คด้วยครับ




ชนชั้นล่างของสังคม ได้แก่ ช่างฝีมือ คนงาน และชาวนา

โดยทั่วไป กลุ่มช่างจะมีสถานะเหนือกว่าชาวนา เพราะต้องทำหน้าที่ในการก่อสร้างเทวสถาน พระราชวัง สถานที่ราชการ อาคารสาธารณะ ตลอดจนบ้านเรือนประชาชนทั่วไป

มีหลักฐานว่า ช่างฝีมืออัซเต็คสามารถจัดตั้งสมาคมของพวกตนได้ โดยมีอำนาจต่อรองกับขุนนาง ข้าราชการ ทหาร และแม้กระทั่งนักบวชอยู่ไม่น้อย

ส่วนชาวนาอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน มีที่ดินร่วมกัน และช่วยกันเพาะปลูกบนเสวนลอย รวมทั้งบนแผ่นดินใกล้เคียงเท่าที่พอจะทำการเกษตรได้ และก็อาจถูกเกณฑ์ไปเป็นแรงงานหลวง หรือไม่ก็เข้ากองทัพด้วย

ทาส เป็นชนชั้นต่ำสุด ได้มาจากเชลยศึกในระดับที่เป็นพลเมือง ของชนชาติที่แพ้สงคราม

แต่ความเป็นทาสของอัซเต็ค ไม่สืบต่อถึงลูกหลานนะครับ ลูกของทาสเมื่อโตแล้วก็แสวงหาอาชีพได้ตามถนัด และเท่ากับเป็นประชากรอัซเต็คคนหนึ่ง




ชาวอัซเต็คมีระบบการเขียนที่ใช้ภาพและสัญลักษณ์ เพื่อแทนคำพูดและความคิด เช่นเดียวกับชาวมายา หนังสืออัซเต็คแต่ละเล่ม เต็มไปด้วยภาพที่มีสีสัน อธิบายรายละเอียดในชีวิตประจำวันในสังคมอัซเต็ค  นักประวัติศาสตร์ได้เรียนรู้เรื่องรา วเป็นอันมากเกี่ยวแก่ชาวอัซเต็ค จากบันทึกเหล่านี้

ประมาณต้นคริสตศตวรรษที่15 อิทธิพลของอัซเต็ค ทอดยาวจากอ่าวเม็กซิโกไปถึงชายฝั่งด้านมหาสมุทรแปซิฟิก และจากที่ราบสูงแห่งเม็กซิโก ไปจนถึงกัวเตมาลา มีผู้คนที่อาศัยอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิแห่งนี้มากถึง 12 ล้านคน

แต่พอถึงช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 15 นั้นเอง อิทธิพลของกรุงเตนอชติทลันก็ค่อยๆ อ่อนแอลง จากการกบฏของกลุ่มประเทศราช ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จนส่งผลให้จักรพรรดิหลายพระองค์ รวมถึงจักรพรรดิองค์ที่ 8 คือ จักรพรรดิอวิตโซทล์ (Ahuitzotl ครองราชย์ ค.ศ.1486–1502) ต้องทรงพึ่งอำนาจของขุนนาง และกองทัพจากพันธมิตรในการปราบปราม




จึงเป็นเหตุให้กลุ่มพันธมิตร มีอิทธิพลที่แข็งแกร่งขึ้น และครอบงำสถาบันกษัตริย์แห่งเตนอชติทลัน โดยผ่านขุนนางที่พวกตนหนุนหลัง จักรพรรดิอวิตโซทล์ และอีกหลายพระองค์ก่อนหน้า ทรงมีพระราชอำนาจแต่ในนาม แท้จริงทรงเปรียบเสมือนหุ่นเชิดของกลุ่มพันธมิตรและขุนนางเท่านั้น

เมื่อจักรพรรดิอวิตโซทล์สวรรคตในปีค.ศ.1502 จักรพรรดิมอคเตซูมาที่ 2 (Moctezuma II) พระราชนัดดาขึ้นสืบราชบัลลังก์ เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 9 พระองค์จึงทรงเริ่มการปฏิรูป เพื่อรวบอำนาจการปกครองกลับคืนสู่สถาบันกษัตริย์อีกครั้ง

แต่วิธีการปฏิรูปการเมืองการปกครองของพระองค์ กลับกลายเป็นการสร้างศัตรู และทำให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายมากยิ่งขึ้น

เช่น การที่พระองค์ทรงมีพระราชโองการ ให้ประหารชีวิตคณะที่ปรึกษาของจักรพรรดิอวิตโซทล์ไปหลายคน และที่เหลือยู่ก็ปลดออกทั้งหมด ทำให้กลุ่มพันธมิตร และชนชั้นสูง รวมทั้งนักบวชที่หนุนหลังขุนนางเหล่านั้นไม่พอใจ

อึกทั้งการที่ทรงปิดกั้น ไม่ให้สามัญชนที่รับราชการมีโอกาสเลื่อนฐานะขึ้นเป็นขุนนาง เพื่อลดอิทธิพลของขุนนางที่จะมาลิดรอนพระราชอำนาจ ก็มีผลทำให้สถาบันขุนนางสั่นคลอน และข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริต มองไม่เห็นความก้าวหน้าของตน ในการที่จะรับใช้สถาบันกษัตริย์

และเมื่อทรงได้รับตำแนะนำผิดๆ จากพวกนักบวชว่า ความวุ่นวายายในพระราชอาณาจักรนั้น เป็นสัญลักษณ์ของวันสิ้นโลก ที่กำลังใกล้เข้ามาทุกที ซึ่งจะแก้ไขได้ ก็ด้วยการถวายเครื่องสังเวยมากขึ้น เพื่อให้เทพเจ้าพอพระทัย




ก็ทรงทำให้ประเทศราชของพระองค์โกรธแค้น ด้วยการเรียกร้องเครื่องราชบรรณากร และเหยื่อบูชายัญมนุษย์เพิ่มมากขึ้น

จนบรรดาเมืองต่างๆ รอบๆ กรุงเตนอชติทลัน เริ่มก่อกบฏมากยิ่งขึ้นทุกทีครับ

...................................


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

จักรวรรดิอัซเต็ค ตอนที่ 1






อัซเต็ค (Aztec) เป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญที่สุด และเจริญรุ่งเรืองที่สุดในทวีปอเมริกากลาง หรือ เมโสอเมริกา (Mesoamerica) ซึ่งเป็นประเทศเม็กซิโกในปัจจุบัน

ชาวอัซเต็ค คือ ชนเผ่าหนึ่งที่พูดภาษานาวาทล์ (Nahuatl) ซึ่งแม้จะอ้างตนว่าสืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าตอลเต็ค (Toltec) แต่โดยทางชาติพันธุ์วิทยาแล้ว พวกเขาสืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าชิชิเม็ค (Chichimec) ซึ่งจัดอยู่ในกล่มเดียวกับพวกตอลเต็
และก็เหมือนกับชนเผ่าตอลเต็ค คือ แต่เดิมเป็นชนเผ่าอพยพเร่ร่อนมาจากทะเลทรายด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเม็กซิโก จนมาถึงบริเวณหุบเขาเม็กซิโก (Valley of Mexico) ในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 13

ตำนานของชาวอัซเต็คกล่าวไว้ว่า พวกเขาจะหาที่ลงหลักปักฐาน ณ สถานที่ที่พวกเขาได้เห็นนกอินทรีเกาะอยู่บนต้นตะบองเพชร 




และหลังจากแสวงหาสถานที่ดังกล่าวในหุบเขาเม็กซิโกอยู่หลายสิบปี จนค.ศ.1325 พวกเขาจึงได้พบว่า มันเป็นเกาะใหญ่ใน ทะเลสาบเต็กซ์โคโค (Texcoco)  

พวกเขาจึงตั้งเมืองบนเกาะแห่งนั้น ให้ชื่อว่า เตนอชติทลัน (Tenochtitlán) ในราวปี ค.ศ.1344 (ตรงกับพ.ศ.1887 สมัยพญางั่วนำถมครองกรุงสุโขทัย และก่อนอยุธยาตอนต้นเล็กน้อย)

ในฐานะผู้มาอยู่ใหม่ และเพิ่งจะเริ่มตั้งรกราก พวกเขายังคงต้องถวายเครื่องบรรณาการแก่ นครรัฐเตปาเน็ค (Tepanec) ที่มีอำนาจครอบคลุมทะเลสาบในช่วงนั้น

ต่อมา ในปีค.ศ.1426 อำนาจของเตปาเนคเริ่มเสื่อมลง ชาวอัซเต็คกับเจ้าเมืองข้างเคียงคือ เต็กซ์โคโค และ ทลาโคปัน (Tlacopán) จึงรวบกำลังกันโค่นล้มเตปาเน็ค และแบ่งดินแดนกัน




อาณาจักรอัซเต็ค จึงถือกำเนิดด้วยเหตุนี้ละครับ

เนื่องจากนครเตนอชติทลันตั้งอยู่บนเกาะ และแผ่นดินที่อยู่ใกล้เคียงเป็นแอ่งน้ำหรือภูเขา ไม่เหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรม ชาวอัซเต็คจึงแก้ปัญหาด้วยการสร้าง สวนลอยน้ำ (Chinampas) หรือสวนเป็นรูปสี่เหลี่ยมลอยขึ้นบนทะเลสาบเต็กซ์โคโค

และจากสวนลอยเหล่านี้แหละครับ พวกเขาก็สามารถผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหารได้เป็นอันมาก จนมีปริมาณพอที่จะเลี้ยงดูคนได้ทั้งเกาะ




เมื่อมีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์เช่นนี้ ประชากรแห่งเตนอชติทลันก็เจริญเติบโตขึ้น จนเมื่อพวกสเปนเข้าไปถึงนั้น มีมากถึงราวๆ 250,000 คน นับเป็นมหานครที่ใหญ่โตที่สุดในอเมริกากลางก่อนสมัยโคลัมบัส

อาณาจักรอัซเต็ค เกิดจากการรวมตัวในลักษณะของพันธมิตรอย่างหลวมๆ ระหว่างสามเมือง ดังนั้น ความสัมพันธ์จึงไม่ค่อยแน่นอน บางทีก็เป็นมิตร และบางทีก็สู้รบกัน

แต่เมื่อเวลาผ่านไป อิทธิพลของนครเตนอชติทลันเพิ่มขึ้น มีขนาดใหญ่และอำนาจสูง จนได้รับการยอมรับให้เป็นศูนย์กลางของอาณาจักร และทำให้ความเป็นพันธมิตรนั้นมั่นคงขึ้น




ช่วงเวลาเดียวกันนั้น ชาวอัซเต็คก็พัฒนากองทัพ และขยายอำนาจด้วยการทำสงคราม ยึดครองบ้านเมืองและชนเผ่าต่างๆ ตั้งแต่หุบเขาเม็กซิโกไปจนถึงชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก และตอนเหนือของกัวเตมาลา ในช่วงปีค.ศ.1428-1521

จนในที่สุด อาณาจักรอัซเต็คก็เติบโตขึ้นเป็นจักรวรรดิอย่างบริบูรณ์ ในช่วงประมาณร้อยปีสุดท้าย ก่อนที่จะถูกกองทัพสเปนเข้ายึดครอง

ในการขยายอำนาจดังกล่าว ถ้าเมืองใดยอมจำนนไม่ต่อสู้ อัซเต็คจะให้สิทธิ์ในการปกครองตนเอง และดำเนินชีวิตตามวิถึวัฒนธรรมประเพณีของตนต่อไปได้

เพียงแต่ต้องส่งเครื่องบรรณาการ ซึ่งส่วนมากจะเป็นผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด พริก ถั่ว หรือของมีค่า เช่น ขนนก เพชรพลอย หนังเสือจากัวร์ ที่เมืองประเทศราชเหล่านั้น มีศักยภาพพอจะจัดหาได้

ส่วนเมืองที่ไม่ยอมจำนน ก็จะต้องพบกับความสยดสยองเป็นสิ่งตอบแทนครับ




เพราะกองทัพอัซเต็ค จะทำการรบโดยมุ่งจับเชลยเป็นๆ มากกว่าการสังหารในสนามรบ

เพื่อจะนำเชลยเหล่านั้นไปประกอบพิธีบูชายัญ ถวายองค์สุริยเทพ และเทพเจ้าแห่งสงคราม ฮวิตซิโลปอชทลิ (Huitzilopochtli) ซึ่งเป็นเทพผู้อุปถัมภ์นครเคนอชติทลันด้วย

...................................


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

อารยธรรมตอลเต็ค






คืออารยธรรมของชาวตอลเต็ค (Toltec) ที่เจริญขึ้นระหว่างค.ศ.900-1168 ในที่ราบสูงตอนกลางของพื้นที่ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมรัฐ ทลักซ์คาลา (Tlaxcala) อิดัลโก (Hidalgo) มอเรโลส (Morelos) และ ปวยบลา (Puebla) ของเม็กซิโก

ในทางชาติพันธุ์วิทยา พวกเขาจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า ตอลเต็ค-ชิชิเม็ค (Tolteca-Chichimeca) เดิมก็เป็นชนเผ่าเร่ร่อนที่มาจากทะเลทรายทางตะวันตกเฉียงเหนือของเม็กซิโกในช่วงคริสตศตวรรษที่ 9

จนกระทั่งได้ลงหลักปักฐาน และก่อตั้ง นครตูลา (Tula) หรือที่เรียกกันในภาษานาวาทล์ว่า ตอลลัน (Tollán) ขึ้นในหุบเขาอันอุดมสมบูรณ์ที่มีแม่น้ำไหลผ่าน ของรัฐอิดัลโก ทางเหนือของกรุงเม็กซิโกซิตี้ในปัจจุบัน โดยมี พระเจ้ามิกซ์โคอาทล์ เซ เต็คปาทล์ (Mixcoatl Ce Técpatl) เป็นปฐมกษัตริย์

นครแห่งนี้ ได้รับประโยชน์จากภูมิประเทศที่เป็นเนินเขาหลายแห่งเช่น ซิโคโคต (Xicocot) จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า ตอลลัน-ซิโคโคติทลัน (Tollán-Xicocotitlán)

เช่นเดียวกับชนพื้นเมืองอื่นๆ เศรษฐกิจของตอลเต็คมีพื้นฐานมาจากการเกษตรเป็นหลัก ซึ่งประสบความสำเร็จในการผลิตอาหารเช่นถั่วนานาชนิด ข้าวโพด และผักโขม โดยพัฒนาระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ จนสามารถเลี้ยงดูประชากรทั้งหมดในหุบเขาตูลาได้อย่างเพียงพอ



ครตูลาในยุครุ่งเรืองนั้น ครอบคลุมพื้นที่ 14 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรมากถึงราวๆ 30,000-40,000 คน

ในบันทึกของชาวอัซเต็คพรรณนาว่า สิ่งก่อสร้างต่างๆ ในนครแห่งนี้ตกแต่งประดับประดาด้วยทองคำ หยก และเทอร์ควอยซ์ ผู้คนแต่งกายสวยงามด้วยผ้าฝ้ายย้อมสีต่างๆ

แม้สิ่งเหล่านี้ จะไม่ดำรงอยู่มาจนถึงยุคของเรา แต่ก็ยังเห็นได้ชัดว่า ชาวตอลเต็คได้สร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะด้วยฝีมือช่างระดับสูง ที่ปรากฏอยู่ในทุกวันนี้ครับ

ดังตัวอย่างที่รู้จักกันมากที่สุด คือ นักรบหิน ที่ทำเป็นเสาค้ำหลังคาหอเทวาลัย ของเทวสถานแห่งนครตูลา




นักรบเหล่านี้ เดิมมีการระบายสีอย่างสวยงาม เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ของเทวสถาน และยังมีหลักฐานว่า เมื่อมีการประกอบพิธีกรรมสำคัญ นักรบเหล่านี้ จะได้รับการตกแต่งเพิ่มเติมด้วยขนนกเควตซัล (Quetzal) อย่างหรูหราอีกด้วย

ในระบบการเมืองการปกครองของตอลเต็ค ผู้ทรงอำนาจสูงสุดคือกษัตริย์ หรือ ทลาโตเควส (Tlahtoques) ซึ่งมักจะมาจากนักรบที่แข็งแกร่งที่สุด

นักรบ จึงเป็นชนชั้นที่สำคัญรองจากกษัตริย์ ทั้งในด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และในการควบคุมกำลังคน แทนที่จะเป็นนักบวช ซึ่งในอารยธรรมโบราณแทบทุกแห่งของอเมริกากลางถือว่าเป็นวรรณะอันศักดิ์สิทธิ์

และระบอบการปกครองเช่นนี้ ก็เป็นพื้นฐานของอารยธรรมตอลเต็ค ตลอดระยะเวลา 384 ปี ก่อนจะพังทลายลง พร้อมกับการล่มสลายของนครตูลา

ซึ่งเหุตุปัจจัยหนึ่ง อาจจะเกิดจากการสู้รบแย่งชิงอำนาจกันเอง ระหว่างผู้นำที่นับถือเทพเจ้าคนละองค์กัน จนทำให้ฝ่ายหนึ่งต้องอพยพผู้คนไปอยู่ที่อื่น และกลายเป็นส่วนสำคัญในตำนานของ จอมเทพเควตซัลโคอาทล์ (Quetzalcoatl) กับ เทพอสูรเตซคาทลิโปคา (Tezcatlipoca)

ดังกรณีของ พระเจ้าโตปิลท์ซิน เซ อาคาทล์ (Topiltzin Ce Ácatl) กษัตริย์ผู้ทรงนำผู้คนเดินทางออกจากตูลา ไปยัง นครชิเชน อิตซา (Chichén Itzá) ของชาวมายาในค.ศ.987




เหตุการณที่คล้ายกันนี้ อาจจะเกิดขึ้นในยุคสุดท้ายของอารยธรรมตอลเต็ค ระหว่างค.ศ.1156-1168 ซึ่งมีหลักฐานการเผาและทุบทำลายอาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ ทั่วทั้งนครตูลา

 ภายหลังนครแห่งนี้ล่มจมลง พระเจ้าเวมัค (Huemac) ปัจฉิมกษัตริย์ตอลเต็ค ทรงนำผู้คนอพยพไปตั้งถิ่ฐานใหม่ที่ ชาปูลเตเป็ค(Chapultepec) ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ เต็กซ์โคโค (Texcoco) แล้วอารยธรรมตอลเต็คก็สาบสูญไป

แม้ว่า โบราณวัตถุสถานของชาวตอลเต็ค จะไม่มีเหลือให้เห็นกันในปัจจุบันมากนัก และในทางประวัติศาสตร์ พวกเขาก็เป็นเพียงนครรัฐอีกแห่งหนึ่ง ที่เคยมีอยู่ในอเมริกากลางเท่านั้น

แต่ความเจริญรุ่งเรืองตลอดระยะเวลากว่า 400 ปีของพวกเขา ก็ก่อให้เกิดอารยธรรมพื้นเมืองเม็กซิกันที่ยิ่งใหญ่ครับ




นั่นคือ พวกเขาเป็นต้นทางของลัทธิบูชาจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ และเทพเม็กซิกันอีกหลายองค์ ที่เผยแผ่ไปยังบรรดานครรัฐรุ่นใหม่ของมายา จนทำให้เกิดยุคใหม่อันเจิดจรัสของนครเหล่านั้น ในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 10

และพวกเขาก็ได้รับการนับถือว่า เป็นบรรพบุรุษของชาวอัซเต็ค ผู้สถาปนาจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของทวีปอเมริกากลาง ซึ่งชาวอัซเต็คก็ประกาศด้วยความภูมิใจว่า ตนเองเป็นลูกหลานและผู้สืบทอดวัฒนธรรมของตอลเต็ค

ความรู้เกี่ยวกับตอลเต็ค ส่วนใหญ่ที่เรามีกันอยู่ ก็ได้จากบันทึกของชาวอัซเต็คนี่แหละครับ

...................................


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

Thursday, February 27, 2020

อารยธรรมซาโปเต็ค






เดิมชาวซาโปเต็ค (Zapotec) เป็นชนเผ่าที่ไม่ทราบความเป็นมาแน่ชัด มีหลักฐานเพียงแค่ว่าคงอาศัยอยู่ในบริเวณที่ปัจจุบันนี้คือเมืองซาน โฮเซ โมโกเต (San José Mogote) หรือไม่ก็ทางใต้และตะวันออกของหุบเขาวักซาคา (Oaxaca สเปนออกเสียง : วาฮากา) ทางตอนใต้ของรัฐวักซาคา ในภาคตะวันตกของเม็กซิโกในปัจจุบัน

ต่อมา คนเหล่านี้จึงอพยพเข้ามาสร้างนคร มอนเต อัลบัน (Monte Albán) ขี้นกลางหุบเขาวักซาคา เมื่อราวๆ 500-750 ปีก่อนคริสตกาล




มอนเต อัลบัน จึงนับเป็นเมืองแรกๆ ที่สร้างขึ้นในทวีปอเมริกากลาง และเติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีชาวเมืองมากถึง 5,200 คนภายใน 200 ปี

และต่อมาช่วง 100 ปีก่อนคริสตกาล–ค.ศ.200 ก็มีประชากรมากถึง 17,200 คน ทำให้นครกลางหุบเขาแห้งนี้เป็นหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของทวีปอเมริกากลาง

ในยุคแห่งความเจรืญรุ่งเรือง ชาวซาโปเต็คขยายอำนาจครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของที่ราบสูงวักซาคัน (Oaxacan) รวมทั้งมีการติดต่อค้าขายกับ นครเตโอติวาคัน (Teotihuacan) ด้วย

ส่วนในด้านศาสนา ภูมิปัญญา และศิลปวัฒนธรรมนั้น ชาวซาโปเต็คมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวัฒนธรรมโอลเม็ค (Olmec) และมายา  มากกว่าเตโอติวาคันครับ

พวกเขามีปฏิทินที่ยอดเยี่ยม เช่นเดียวกับทั้งสองชนชาตินั้น แหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่ของนครมอนเต อัลบัน ในเขตเทศบาลเมืองซานตา ครูซ โซโซโคทลัน (Santa Cruz Xoxocotlán) เวลานี้ แสดงให้เห็นถึงระบบผังเมือง ตลอดจนอาคารที่ได้รับการออกแบบอย่างดี แลดูเรียบร้อยสวยงาม

 ภายในเมืองมี Main Plaza ขนาด 300x200 เมตร เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมและที่อยู่อาศัยของชนชั้นสูง รวมทั้งลานบอล พิธีกรรมบูชาเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ที่ได้รับมาจากพวกมายา




มอนเต อัลบัน เป็นเมืองหลวงของชาวซาโปเต็ค ตลอดระยะเวลายาวนานเกือบพันปี นับว่าเป็นมหานครที่มีอายุยืนนานที่สุดแห่งหนึ่งของทวีปอเมริกากลาง ก่อนจะถูกละทิ้งไปในช่วงหลังค.ศ.200 ด้วยสาเหตุที่ยังไม่แน่ชัด

นอกจากนี้ ยังมีอีกเมืองที่สำคัญของอารยธรรมซาโปเต็ค คือ นครมิทลา (Mitla) ตั้งอยู่บนหุบเขาทลาโคลูลา (Tlacolula) ในรัฐวักซาคาเช่นกันครับ

เมืองนี้เป็นมีโบราณสถานที่สำคัญที่สุด สำหรับประกอบพิธีบูชายัญ ซึ่งชื่อ Mitla ก็มาจากคำในภาษานาวาทล์ว่า มิคทลัน (Mictlán) หมายถึง สถานที่แห่งความตาย หรือยมโลก

 แต่โบราณสถานของนครแห่งนี้ ก็มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากเมืองอื่นๆ ในทวีปอเมริกากลาง คือ การตกแต่งอาคารด้วยโมเสก (Mosaic) ที่ละเอียดซับซ้อน ทำจากหินที่ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ และขัดให้ต่อเข้ากันได้พอดี ซึ่งไม่ต้องใช้กาวหรือปูนเชื่อมเลย




ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด ถึงความสัมพันธ์ทางการเมือง ระหว่างมิทลากับมอนเต อัลบัน ทั้งสองอาจเป็นนครรัฐที่มีอำนาจปกครองตนเอง แต่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน

และหลังจากมอนเต อัลบันถูกทิ้งร้างในช่วงหลังค.ศ.200 แล้ว มิทลาก็ยังคงอยู่ต่อมาจนถึงประมาณปีค.ศ.1000 ชาวมิกซ์เต็ค (Mixte)c จึงเข้าครอบครอง และขยายเมืองให้มีขนาดใหญ่ขึ้น

จนกลายเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญอีกแหล่งกนึ่งของทวีปอเมริกากลาง จนถึงยุคล่าอาณานิคมของสเปนครับ

...................................


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด