Wednesday, February 12, 2020

เทววิทยาของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์





การบูชาจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ ในอารยธรรมต่างๆ ของอเมริกากลางนั้น ได้พบหลักฐานเก่าสุด ณ กรุงเตโอติวาคัน (Teotihuacan) มีอายุถึงราวๆ 100 ปีก่อนคริสตกาล

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางสำนักระบุว่า อาจจะมีหลักฐานการบูชาจอมเทพองค์เดียวกันนี้ จากอารยธรรมโอลเม็ค (Olmec) ที่เก่าไปถึง 900 ปี ก่อนคริสตกาลเป็นอย่างน้อย แต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ใจกันนักว่าจะเป็นเทพองค์เดียวกัน

หลังการล่มสลายของอารยธรรมเตโอติวาคันในช่วง ค.ศ.600 ลัทธิของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ ก็ปรากฏให้เห็นใน โซชิคัลโค (Xochicalco) คาคักซ์ทลา (Cacaxtla) ตูลา (Tula) และ โชลูลา (Cholula)

ทั้งหมดอยู่ในตอนกลางของเม็กซิโกทุกวันนี้ จึงเป็นเหตุให้นักศาสนศาสตร์นิยมเรียกลัทธิดังกล่าวว่า “ลัทธิศาสนาเม็กซิกัน

และพญางูขนนกองค์นี้ ก็เริ่มได้รับการนับถือแพร่หลายมากขึ้น ในช่วง ค.ศ.900 โดยเฉพาะเมื่อ พระเจ้าโตปิลท์ซิน เซ อาคาทล์ (Topiltzin Ce Ácatl) กษัตริย์ชาวตอลเต็ค (Toltec) ผู้นับถือพระองค์ ซึ่งถูกขับไล่โดยกองกำลังของผู้บูชาเทพอสูรเตซคาทลิโปคา (Tezcatlipoca) ทรงนำผู้คนเดินทางออกจากนครตูลาไปยังนครชิเชน อิตซา (Chichén Itzá) ซึ่งเจริญรุ่งเรืองที่สุดของชาวมายา (Maya) ในค.ศ.987 และทรงได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีที่นั่น




จนในที่สุด ชิเชน อิตซาก็กลายเป็นศูนย์กลางชองลัทธิที่บูชาจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ ด้วยพระนามภาษายูคาเต็ค (Yucatec) ว่า จอมเทพกูกูลคัน (Kukulkán) และภาษาควีเช (Quiché ในกัวเตมาลา) ว่า จอมเทพกูคูมัตซ์ (Gucumatz) ซึ่งก็มีความหมายว่า พญางูขนนก (Feathered Serpent) เช่นกัน

หลังจากนั้น ลัทธิบูชาพระองค์ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในศาสนาหลัก ของแทบทุกนครรัฐในอารยธรรมมายา จนถึงคริสตศตวรรษที่ 16 ซึ่งอารยธรรมมายาต้องล่มสลายไปเพราะการรุกรานของสเปน

ในระยะเวลาใกล้เคียงกับที่พระเจ้าโตปิลท์ซิน ทรงนำผู้คนเดินทางไปยังนครชิเชน อิตซา คือในช่วงระหว่างปี ค.ศ.900–1519 คติการบูชาจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ ก็ได้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงที่โชลูลา ซึ่งมีการสร้างปราสาทหิน ทลาชิวัลเตเปทล์ (Tlachihualtepetl) หรือ เทวาลัยบนฐานเป็นชั้นสำหรับพระองค์ ด้วยขนาดที่ใหญ่โตที่สุดในทวีปอเมริกากลาง และใหญ่กว่ามหาพีระมิดแห่งกิซา (Giza) ของอียิปต์ จากนั้นก็แผ่อิทธิพลไปยังทุกชนเผ่าที่ใข้ภาษานาวาทล์ (Nahuatl)

ดังนั้น ชาวอัซเต็ค (Aztec) ซึ่งได้สร้างจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ที่สุด เมื่อปีค.ศ.1344 ก็คงจะได้รับลัทธิบูชาพระองค์จากโชลูลา โดยได้รับผ่านพวกชิชืเม็ค (Chichimec) หรือไม่ก็พวกตอลเต็ค (Toltec) แต่ก็คงได้รับมาพร้อมกับการบูชาเทพอสูรเตซคาทลิโปคา และเทพเม็กซิกันที่ดุร้ายองค์อื่นๆ เสียแล้ว

เราไม่ทราบแน่ว่า คติการบูชาพระองค์ ณ กรุงเตนอชติทลัน (Tenochtitlán) นครหลวงของจักรวรรดิอัซเต็ค บนเกาะในทะเลสาบเต็กซ์โคโค (Texcoco) นั้นเป็นอย่างไร เพราะเทวสถานในนครดังกล่าวถูกสเปนรื้อทิ้งทั้งหมด





เราทราบแต่เพียงว่า พระองค์มิได้รับการบูชาในเทวสถานหลักของเมืองนั้น และลัทธิของพระองค์ได้ย้อนกลับไปมีบทบาทสำคัญในเทวศาสตร์อัซเต็ค ณ กรุงเตโอติวาคัน ซึ่งชาวอัซเต็คได้เข้าไปยึดครอง และสร้างปราสาทหินที่สวยงามที่สุดในศิลปะอัซเต็ค เพื่อถวายแด่พระองค์ที่นั่น

จอมเทพเควตซัลโคอาทล์ ตามตำราว่าทรงมีเทวลักษณะเป็นบุรุษรูปงาม สวมศิราภรณ์และฉลองพระองค์ประดับขนนกเควตซัล (Quetzal) มีเทพศาสตราวุธคือคฑาที่มีอานุภาพร้ายแรง ถึงกับเปลี่ยนเนินเขาให้กลายเป็นหุบเขา และเจาะทะลุภูเขาให้มีสายน้ำไหลออกมาได้

แต่รูปลักษณ์ที่ทรงได้รับความนิยมมากกว่า คือ พญางูขนนก ซึ่งในศิลปะโบราณ มักทำเพียงหัวงูที่มีแผงคอเป็นขนนก ขณะที่รูปวาดสมัยใหม่เขียนเป็นพญามังกรที่มีปีกแบบนก

เนื่องจากตำนานดั้งเดิมที่สุด กล่าวว่าพระองค์ทรงแล่นเรือมาจากสถานที่อันไกลโพ้น ดังนั้น เทวกำเนิดของพระองค์ที่เล่าขานกันในเทววิทยาอัซเต็ค จึงเป็นเรื่องที่แต่งกันขึ้นในถายหลัง ซึ่งมี 2 กระแสหลักครับ

กระแสหนึ่งว่า ทรงถือกำเนิดจากหญิงพรหมจารีชื่อ ชิมัลมัน (Chimalman) และทรงมีพระขนิษฐา คือ เทวีเควตซัลเปลาทล์ (Quetzalpétlatl)




อีกกระแสหนึ่งกล่าวว่า พระองค์เป็นหนึ่งในโอรสทั้ง 4 ของ โอเมเตคูฮ์ทลิ (Ometecuhtli) และ โอเมซิวาทล์ (Omecíhuatl ดูภาพข้างบน) ซึ่งครองทิศทั้ง 4 ในเทวศาสตร์อัซเต็ค คือ

1) เควตซัลโคอาทล์ หรือ White Tezcatlipoca เทพแห่งแสงสว่าง ความยุติธรรม ความกรุณา และสายลม ครองทิศตะวันตก

2) ฮวิตซิโลปอชทลิ (Huitzilopochtli) หรือ Blue Tezcatlipoca เทพเจ้าแห่งสงคราม ครองทิศใต้

3) ซิเป-โตเต็ค (Xipe-Tótec) หรือ Red Tezcatlipoca เทพเจ้าแห่งทองคำ การเกษตรและฤดูใบไม้ผลิ ครองทิศตะวันออก

4) เตซคาทลิโปคา (Tezcatlipoca) หรือ Black Tezcatlipoca เทพเจ้าแห่งความยุติธรรม รัตติกาล การหลอกลวง เวทมนตร์ และโลก ครองทิศเหนือ

โดยบางตำราก็กล่าวว่า ยังทรงมีพระขนิษฐา คือเทวีเควตซัลเปลาทล์อีกด้วย

ส่วนเทพองค์ที่ 4 คือ เทพอสูรเตซคาทลิโปคา คู่ปรปักษ์ของพระองค์นั้น นับว่ามีความสำคัญมากในเทววิทยาอัซเต็ค

เพราะเราจะเห็นว่า แม้แต่องค์จอมเทพเควตซัลโคอาทล์ และพระอนุชาองค์อื่นๆ ก็มีนามว่า “เตซคาทลิโปคา” ด้วยเหมือนกัน เพียงแต่มีวรรณะ (สี) ต่างกันเท่านั้น ทำให้คนที่ศึกษาเทววิทยาอัซเต็คสับสนกันอยู่เสมอ

ในเทววิทยาอัซเต็ค จอมเทพเควตซัลโคอาทล์ยังทรงเป็นเทพแห่งสายลม ซึ่งเชื่อมโยงกับเมฆหมอกและฝน ที่สร้างความชุ่มชื้นให้โลก และในบางตำรายังระบุว่า ทรงเป็นผู้ครองธาตุลม ซึ่งรวมถึงลมหายใจของมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตทั้งปวงด้วย




พระนามในภาคนี้ของพระองค์คือ วายุเทพเอเฮคาทล์ (Ehécatl)

และในทางดาราศาสตร์ ยังทรงเกี่ยวข้องกับดาวศุกร์ หรือ ซิทลาลิต (Citlalit) หรือดาวประกายพรึก ซึ่งประกาศการมาถึงของรุ่งอรุณ คุณลักษณะของพระองค์ในแง่นี้เรียกกันในภาษานาวาทล์ว่า ทลาฮ์วิกซ์คัลปันทเลคูทลิ (Tlahuixcalpantlecutli)

ในอเมริกาใต้ ชาวอินคา (Inca) ก็ได้รับลัทธิการบูชาพระองค์จากอเมริกากลาง โดยทรงมีพระนามในภาษาเควชัว (Queshua) ว่า จอมเทพวิราโคชา (Viracocha) แปลว่า “ฟองคลื่นในทะเล” เพราะทรงเป็นชาวต่างถิ่นที่เดินทางมาสู่ดินแดนแถบนี้โดยมาทางทะเล

ลัทธินี้ ต่อมาก็ทวีความสำคัญขึ้น ยิ่งกว่าลัทธิบูชาสุริยเทพ (Inti Reymi) ที่เป็นศาสนาหลักของชาวอินคามาแต่เดิม




ดังที่ยกย่องกันว่า จอมเทพวิราโคชาทรงเป็นผู้สร้างโลก เป็นพระบิดาของสุริยเทพ จันทรเทวี ตลอดจนเทพ-เทวีทั้งปวง รวมทั้งทรงสร้างมนุษย์คนแรกบนโลกด้วยก้อนหิน

หลังจากสเปนพิชิตจักรวรรดิอัซเต็ค จักรวรรรดิอินคา และกลุ่มนครรัฐมายาได้ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 16 พวกเขาก็บิดเบือนตำนานของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ และจอมเทพวิราโคชา ด้วยการบรรยายว่าทรงมีผิวขาว ไว้หนวดเครา เหมือนกับขาวสเปน เช่น เอร์นัน กอร์เตซ (Hernán Cortés) ผู้พิชิตจักรวรรดิอัซเต็ค หรือไม่ก็ นักบุญโธมัส มรณสักขี (Thomas the Apostle) หนึ่งใน 12 อัครทูตของพระเยซู

นี่คือ หนึ่งในความพยายามที่จะล้างสมองชาวอัซเต็ค อินคา และมายาให้มีภาพจำต่อๆ กันมาว่า การพิชิตจักรวรรดิอัซเต็ค จักรวรรรดิอินคา และกลุ่มนครมายา คือการกลับมาตามคำมั่นสัญญาของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ และจอมเทพวิราโคชา เพื่อนำชาวอัซเต็ค อินคา และมายาพ้นจากยุคแห่งความป่าเถื่อน ไปสู่ยุคแห่งสันติสุข ตามที่ทั้งสามชนชาติรอคอยอยู่นั่นเอง

ซึ่งลูกหลานมายา อัซเต็ค และอินคา ก็เชื่อกันตามนั้นมาหลายร้อยปีครับ


เพิ่งจะตาสว่าง และปลดแอกตนออกจากตำนานลวงโลกนี้ได้ เมื่อการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และคติชนวิทยาแพร่หลาย ทำให้ความจริงเปิดเผยขึ้น เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง

...................................




หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด


No comments:

Post a Comment