Friday, February 28, 2020

อารยธรรมตอลเต็ค






คืออารยธรรมของชาวตอลเต็ค (Toltec) ที่เจริญขึ้นระหว่างค.ศ.900-1168 ในที่ราบสูงตอนกลางของพื้นที่ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมรัฐ ทลักซ์คาลา (Tlaxcala) อิดัลโก (Hidalgo) มอเรโลส (Morelos) และ ปวยบลา (Puebla) ของเม็กซิโก

ในทางชาติพันธุ์วิทยา พวกเขาจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า ตอลเต็ค-ชิชิเม็ค (Tolteca-Chichimeca) เดิมก็เป็นชนเผ่าเร่ร่อนที่มาจากทะเลทรายทางตะวันตกเฉียงเหนือของเม็กซิโกในช่วงคริสตศตวรรษที่ 9

จนกระทั่งได้ลงหลักปักฐาน และก่อตั้ง นครตูลา (Tula) หรือที่เรียกกันในภาษานาวาทล์ว่า ตอลลัน (Tollán) ขึ้นในหุบเขาอันอุดมสมบูรณ์ที่มีแม่น้ำไหลผ่าน ของรัฐอิดัลโก ทางเหนือของกรุงเม็กซิโกซิตี้ในปัจจุบัน โดยมี พระเจ้ามิกซ์โคอาทล์ เซ เต็คปาทล์ (Mixcoatl Ce Técpatl) เป็นปฐมกษัตริย์

นครแห่งนี้ ได้รับประโยชน์จากภูมิประเทศที่เป็นเนินเขาหลายแห่งเช่น ซิโคโคต (Xicocot) จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า ตอลลัน-ซิโคโคติทลัน (Tollán-Xicocotitlán)

เช่นเดียวกับชนพื้นเมืองอื่นๆ เศรษฐกิจของตอลเต็คมีพื้นฐานมาจากการเกษตรเป็นหลัก ซึ่งประสบความสำเร็จในการผลิตอาหารเช่นถั่วนานาชนิด ข้าวโพด และผักโขม โดยพัฒนาระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ จนสามารถเลี้ยงดูประชากรทั้งหมดในหุบเขาตูลาได้อย่างเพียงพอ



ครตูลาในยุครุ่งเรืองนั้น ครอบคลุมพื้นที่ 14 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรมากถึงราวๆ 30,000-40,000 คน

ในบันทึกของชาวอัซเต็คพรรณนาว่า สิ่งก่อสร้างต่างๆ ในนครแห่งนี้ตกแต่งประดับประดาด้วยทองคำ หยก และเทอร์ควอยซ์ ผู้คนแต่งกายสวยงามด้วยผ้าฝ้ายย้อมสีต่างๆ

แม้สิ่งเหล่านี้ จะไม่ดำรงอยู่มาจนถึงยุคของเรา แต่ก็ยังเห็นได้ชัดว่า ชาวตอลเต็คได้สร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะด้วยฝีมือช่างระดับสูง ที่ปรากฏอยู่ในทุกวันนี้ครับ

ดังตัวอย่างที่รู้จักกันมากที่สุด คือ นักรบหิน ที่ทำเป็นเสาค้ำหลังคาหอเทวาลัย ของเทวสถานแห่งนครตูลา




นักรบเหล่านี้ เดิมมีการระบายสีอย่างสวยงาม เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ของเทวสถาน และยังมีหลักฐานว่า เมื่อมีการประกอบพิธีกรรมสำคัญ นักรบเหล่านี้ จะได้รับการตกแต่งเพิ่มเติมด้วยขนนกเควตซัล (Quetzal) อย่างหรูหราอีกด้วย

ในระบบการเมืองการปกครองของตอลเต็ค ผู้ทรงอำนาจสูงสุดคือกษัตริย์ หรือ ทลาโตเควส (Tlahtoques) ซึ่งมักจะมาจากนักรบที่แข็งแกร่งที่สุด

นักรบ จึงเป็นชนชั้นที่สำคัญรองจากกษัตริย์ ทั้งในด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และในการควบคุมกำลังคน แทนที่จะเป็นนักบวช ซึ่งในอารยธรรมโบราณแทบทุกแห่งของอเมริกากลางถือว่าเป็นวรรณะอันศักดิ์สิทธิ์

และระบอบการปกครองเช่นนี้ ก็เป็นพื้นฐานของอารยธรรมตอลเต็ค ตลอดระยะเวลา 384 ปี ก่อนจะพังทลายลง พร้อมกับการล่มสลายของนครตูลา

ซึ่งเหุตุปัจจัยหนึ่ง อาจจะเกิดจากการสู้รบแย่งชิงอำนาจกันเอง ระหว่างผู้นำที่นับถือเทพเจ้าคนละองค์กัน จนทำให้ฝ่ายหนึ่งต้องอพยพผู้คนไปอยู่ที่อื่น และกลายเป็นส่วนสำคัญในตำนานของ จอมเทพเควตซัลโคอาทล์ (Quetzalcoatl) กับ เทพอสูรเตซคาทลิโปคา (Tezcatlipoca)

ดังกรณีของ พระเจ้าโตปิลท์ซิน เซ อาคาทล์ (Topiltzin Ce Ácatl) กษัตริย์ผู้ทรงนำผู้คนเดินทางออกจากตูลา ไปยัง นครชิเชน อิตซา (Chichén Itzá) ของชาวมายาในค.ศ.987




เหตุการณที่คล้ายกันนี้ อาจจะเกิดขึ้นในยุคสุดท้ายของอารยธรรมตอลเต็ค ระหว่างค.ศ.1156-1168 ซึ่งมีหลักฐานการเผาและทุบทำลายอาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ ทั่วทั้งนครตูลา

 ภายหลังนครแห่งนี้ล่มจมลง พระเจ้าเวมัค (Huemac) ปัจฉิมกษัตริย์ตอลเต็ค ทรงนำผู้คนอพยพไปตั้งถิ่ฐานใหม่ที่ ชาปูลเตเป็ค(Chapultepec) ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ เต็กซ์โคโค (Texcoco) แล้วอารยธรรมตอลเต็คก็สาบสูญไป

แม้ว่า โบราณวัตถุสถานของชาวตอลเต็ค จะไม่มีเหลือให้เห็นกันในปัจจุบันมากนัก และในทางประวัติศาสตร์ พวกเขาก็เป็นเพียงนครรัฐอีกแห่งหนึ่ง ที่เคยมีอยู่ในอเมริกากลางเท่านั้น

แต่ความเจริญรุ่งเรืองตลอดระยะเวลากว่า 400 ปีของพวกเขา ก็ก่อให้เกิดอารยธรรมพื้นเมืองเม็กซิกันที่ยิ่งใหญ่ครับ




นั่นคือ พวกเขาเป็นต้นทางของลัทธิบูชาจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ และเทพเม็กซิกันอีกหลายองค์ ที่เผยแผ่ไปยังบรรดานครรัฐรุ่นใหม่ของมายา จนทำให้เกิดยุคใหม่อันเจิดจรัสของนครเหล่านั้น ในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 10

และพวกเขาก็ได้รับการนับถือว่า เป็นบรรพบุรุษของชาวอัซเต็ค ผู้สถาปนาจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของทวีปอเมริกากลาง ซึ่งชาวอัซเต็คก็ประกาศด้วยความภูมิใจว่า ตนเองเป็นลูกหลานและผู้สืบทอดวัฒนธรรมของตอลเต็ค

ความรู้เกี่ยวกับตอลเต็ค ส่วนใหญ่ที่เรามีกันอยู่ ก็ได้จากบันทึกของชาวอัซเต็คนี่แหละครับ

...................................


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

No comments:

Post a Comment