Monday, February 24, 2020

เทวรูปมายา






เทวรูปมายาที่หลงเหลือตกทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นของสร้างขึ้นหลัง ค.ศ.1000

โดยมีทั้งที่เป็นขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ภายในเทวสถาน ตั้งอยู่ในหอหรืออาคารรอบเทวสถาน หรือตั้งอยู่กลางแจ้ง

นอกจากนี้ ยังนิยมทำเป็นประติมากรรมเพื่อตกแต่งอาคารสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แม้แต่เป็นส่วนประกอบของกระถางกำยาน สำหรับใช้ในพิธีกรรมก็มี

สำหรับเทวรูปที่อยู่ในปราสาทหิน ซึ่งอยู่ในอาคารบนยอดฐานเป็นชั้นนั้น ก็มีทั้งขนาดใหญ่ ซึ่งจะไม่มีการเคลื่อนย้าย และขนาดเล็ก สำหรับอัญเชิญในพิธีกรรมที่สำคัญ เช่น อัญเชิญไปกับกองทัพเพื่อออกไปทำสงคราม

เทวรูปมายามักจะทำด้วยหินแกะสลักแบบนูนเพียงด้านเดียว มีทั้งแบบนูนสูง นูนกลาง และนูนต่ำ ซึ่งบางทีก็ทำเฉพาะพระพักตร์ที่ประดับด้วยศิราภรณ์เลอค่าเป็นจำนวนมาก

หรือทำให้เห็นทั้งองค์ทางด้านข้างในอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ หรือนั่งชันเข่า พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ ถือเทพอาวุธหรือสัญลักษณ์ประจำพระองค์

หรือบางองค์ก็อยู่ในท่ายืนและท่าก้าวเดิน โดยจะต้องแสดงรายละเอียดของเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ และฉลองพระองค์อย่างเต็มอัตรา

นอกจากนี้ พวกเขายังประสบความสำเร็จในการสร้างเทวรูป ด้วยผลงานจิตรกรรมที่ยอดเยี่ยมอีกด้วย




เทวรูปในศิลปะมายา ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรมสองมิติหรือจิตรกรรม บางทีก็แสดงให้เห็นชัดว่ามีรูปกายอย่างมนุษย์

บางทีก็แสดงออกในรูปลักษณ์ที่แปลกประหลาด คือเป็นการผสมผสานระหว่างรูปมนุษย์กับสัตว์ต่างๆ ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์เลื้อยคลาน และนก

ซึ่งเชื่อกันว่า อาจจะเป็นกลวิธีสื่อความหมายเช่นเดียวกับที่ใช้ในประติมานวิทยาไอยคุปต์

คือ เอารูปสัตว์มาเป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่า เทพองค์นั้นทรงมีพลังอำนาจ หรือมีบุคลิกภาพเช่นใด โดยไม่ใช่เป็นการนับถือสัตว์ แล้วยกย่องสัตว์ขึ้นเป็นเทพเจ้าแต่อย่างใด

สำหรับเทวปฏิมาที่เป็นรูปลอยองค์และมีขนาดใหญ่ ก็พอจะมีตัวอย่างอยู่บ้างนะครับ เช่น เทวรูปของ ธัญญเทพยุม คากซ์ (Yum Kaax) สมัยหลัง ค.ศ.1000




เทวปฏิมาองค์นี้ มีท่วงท่าลีลาที่คล้ายกับศิลปะอินเดีย คือพระพักตร์แสดงความอ่อนโยน พระเนตรทอดลงต่ำ พระหัตถ์ทั้งสองทำท่าคล้ายกับท่าประทานพร (Varada Mudra) และประทานอภัย (Abhaya Mudra) ของเทวรูปอินเดีย โดยมีเครื่องประดับคือศิราภรณ์ทรงสูง กุณฑลขนาดใหญ่ ชุดของสร้อยพระศอและทับทรวงที่มีรูปแบบทางศิลปกรรมเป็นของชาวมายาเอง

ประติมานวิทยาในเทวศาสตร์ของชาวมายา มีรูปแบบที่สับสน เนื่องจากเทพเจ้าหลายองค์ทรงมีทิพยภาวะสองด้านที่ขัดแย้งกันในตนเอง และในหลายๆ กรณี เทวรูปของพระองค์ก็จะทรงแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งนั้น

ไม่เพียงเท่านั้น ทิพยรูปที่เปลี่ยนแปลงไปของเทพแต่ละองค์ ในช่วงเวลาและโอกาสต่างๆ ก็ไม่มีเครื่องบ่งชี้ใดๆ ให้เห็นเลยว่า มีความเกี่ยวพันอย่างหนึ่งอย่างใดกับเทวลักษณะหลักๆ ของเทพองค์เดียวกันนั้น ที่รู้จักกันดีอยู่แล้วอีกด้วย

ในศิลปะมายา เทพเจ้ามักปรากฏพระองค์เพียงลำพัง หรือไม่ก็ปรากฏเป็นคณะสี่องค์หรือจตุเอกานุภาพ




ยิ่งไปกว่านั้น เทพบางองค์ เช่น วรุณเทพชาค (Chaac) ก็สามารถปรากฏพระองค์ได้ถึง 4 ปางหรือลักษณะ ในเวลาเดียวกัน ซึ่งแต่ละปางนั้น ก็จะมีบทบาทความสำคัญที่แตกต่างกันไปด้วย

การแกะสลัก หรือการเขียนภาพเล่าเรื่องเทวปกรณ์ รวมทั้งความเกี่ยวข้องระหว่างกษัตริย์ นักบวช กับเทพเจ้าต่างๆ นั้น ก็ได้รับความนิยมมาก ในการใช้ตกแต่งภายนอกภายในเทวสถาน และอาคารประกอบพิธีกรรม เทวรูปเหล่านี้หากเป็นงานจิตรกรรมแล้วก็จะเขียนด้วยสีสันที่สดใสมาก

เป็นที่น่าเสียดายว่า เรายังไม่เคยค้นพบเทวรูปมายาที่ประดิษฐานอยู่ในสถานที่ดั้งเดิม (In Situ) ภายในปราสาทหินต่างๆ เลยแม้แต่องค์เดียวครับ

เราได้พบแต่เพียงแท่นประดิษฐานเทวรูป และแท่นบูชาในเทวาลัยหรืออาคารบางแห่งเท่านั้น แท่นบูชาเหล่านี้น่าจะเคยใช้ประดิษฐานเทวรูปลอยองค์ซึ่งมีขนาดใหญ่ แต่ก็คงถูกทำลาย หรือสูญหายไปหมดแล้ว

เทวรูปมายายังปรากฏในรูปแบบอื่น ที่เป็นของบางนครรัฐโดยเฉพาะ เช่ยที่ นครโคปัน (Copan) ในฮอนดูรัส มีการสร้าง Stela หรือศิลาจารึกขนาดใหญ่ไว้ ณ ทางเข้าเทวสถานแต่ละแห่ง โดยจะมีการสร้างเพิ่มเติมทุกๆ 20 ปี ศิลาจารึกเหล่านี้แกะสลักภาพเทวรูป หรือไม่ก็กษัตริย์ที่มีพระราชโองการให้สร้าง และจารึกบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ จักรวาลวิทยา และเทววิทยา




ในยุคเสื่อมของอารยธรรมมายา เราได้พบเทวรูปเพียงไม่กี่องค์ในนครมายาปัน ซึ่งก็เป็นผลงานที่หยาบ เช่นเดียวกับเทวสถานในนครนั้น

และไม่ว่าในสมัยมายาโบราณ หรือหลังค.ศ.1000 ชาวมายาก็นิยมสร้างเทวรูปน้อยกว่ารูปเคารพของกษัตริย์ หรือบุคคลสำคัญเสียอีก

ดังนั้น เทวรูปมายาที่หลงเหลือตกทอดมาจนถึงยุคของเรา จึงมีปริมาณไม่มาก เมื่อเทียบกับประติมากรรมอื่นๆ ของพวกเขาครับ

...................................


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด


No comments:

Post a Comment