Saturday, February 29, 2020

จักรวรรดิอัซเต็ค ตอนที่ 3






ในปีค.ศ.1519 กองกำลังสำรวจของสเปน 630 นาย นำโดย เอร์นัน กอร์เตซ (Hernán Cortéz) ก็ได้มาถึงคาบสมุทรยูคาตัน (Yucatán) 

กอร์เตซนั้น ได้รับการยกย่องในประวัติศาสตร์ว่าเป็น “ผู้พิชิต” หรือ กองกิสตาดอร์ (Conquistador) แต่โดยภูมิหลังแล้ว เขาคืออาชญากรที่หลบหนีคดีมาจากคิวบา และกำลังเป็นที่ต้องการตัวของ ดิเอโก เบลัซเกซ (Diego Velásquez) ผู้ว่าราชการที่นั่น

คณะของกอร์เตซ ได้สำรวจลึกเข้ามาถึงตอนในของแผ่นดิน พวกเขาประสบความสำเร็จในการพบปะกับชนเผ่า และบ้านเล็กเมืองน้อยตามรายทาง อันเนื่องมาจากพวกเขามีล่ามอย่าง บาทหลวง เจโรนีโม เด อากีลาร์ (Gerónimo de Aguilar) ซึ่งเคยสำรวจดินแดนแถบนี้มาก่อนแล้ว และมีความรู้ด้านภาษามายา กับ มาลินท์ซิน (Malintzin) ทาสสาวชาวมายา ซึ่งพูดภาษานาวาทล์ได้

โดยในการเจรจาแต่ละครั้ง บาทหลวงเด อากีลาร์จะแปลภาษาสเปนเป็นมายา และมาลินท์ซินจะแปลจากมายาเป็นภาษานาวาทล์อีกทีหนึ่ง

ทาสสาวผู้นี้ ภายในเวลาไม่นานก็รู้ภาษาสเปนมากพอสมควร และถูกมองว่า เป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้จักรวรรดิอัซเต็คล่มสลายครับ

กอร์เตซมาถึงในช่วงเวลาที่เมืองขึ้นต่างๆ ของจักรวรรดิอัซเต็ค กำลังเป็นกบฏ และหาทางแยกตัวเป็นอิสระ

อีกทั้งยังเกิดคำเล่าลือทั่วไปว่า เขาคือ จอมเทพเควตซัลโคอาทล์ (Quetzalcoatl) เสด็จกลับมา ตามคำพยากรณ์ที่ว่า พญางูขนนกองค์นี้จะเสด็จกลับมาในปีที่กอร์เตซเข้ามายังเม็กซิโกพอดี

เขาจึงได้รับความเป็นมิตร และการสนับสนุนจากบรรดาเมืองขึ้น รวมัทั้งศัตรูของจักรวรรดิอัซเต็คเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพวกโตโตนัค (Totonác) และ ทลักซ์คาลัน (Tlaxcalán)

พวกนี้ยังเล่าให้คณะสำรวจ และทหารสเปนฟัง ถึงความร่ำรวยของจักรวรรดิอัซเต็ค ทำให้กอร์เตซและลูกน้องถึงกับตาลุกวาว เขาตัดสินใจนำกองทหาร 630 นาย มุ่งสู่กรุงเตนอชติทลัน แม้จะรู้ว่า มีนักรบอัซเต็คนับหมื่นอยู่ที่นั่น




เมื่อทราบข่าวการมาถึงของกอร์เตซ พร้อมกับข่าวลือเรื่องการกลับมาของจอมเทพเควตซัลโคอาทล์  ด้วยความเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง จักรพรรดิมอคเตซูมาที่ 2 ทรงส่งทหารไปรับมือกับพวกสเปน

แต่นักรบอัซเต็ค ไม่เคยเห็นทั้งเกราะเหล็ก ดาบ ปืนคาบศิลา ปืนใหญ่ และม้า จึงพ่ายแพ้ตั้งแต่การรบครั้งแรก

ครั้นเมื่อองค์จักรพรรดิส่งทหารไปอีก แม้นักรบเหล่านั้นจะเริ่มเรียนรู้ถึงอานุภาพของปืนใหญ่ และหมวกเหล็ก-เกราะเหล็ก ที่ทนทานต่อ มาควาวิทล์ (Macuahuitl : กระบองไม้ฝังหินมีคม) ซึ่งเป็นอาวุธที่ดีที่สุดของพวกเขา แต่เมื่อสิ่งเหล่านี้ใหม่เกินกว่าที่นักรบอัซเต็คจะหาทางแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น ทุกกองทัพที่จักรพรรดิมอคเตซูมาที่ 2 ส่งไป ก็ยังคงไม่อาจต้านทานการบุกรุกของสเปนได้

ดังนั้น พระองค์จึงส่งคณะทูตไปพบกับคณะสำรวจ ที่รุกคืบมาถึงพื้นที่ที่ปัจจุบันนี้คือ เวราครูซ (Veracruz) เพื่อมอบเครื่องบรรณาการ และเกลี้ยกล่อมให้พวกเขากลับไป

แต่ในที่สุด หลังจากเสียเวลา 8 เดือน ไปกับการสู้รบ และการเจรจา กอร์เตซก็สามารถเอาชนะการต่อต้านของทางจักรวรรดิได้อย่างหมดจด เขานำทหารโจรเพียงหยิบมือ ยาตราเข้าสู่มหานครอันเจิดจรัสที่สุดในอเมริกากลาง อย่างไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งได้อีกต่อไป

ด้วยความหวังที่จะหลีกเลี่ยงสงคราม จักรพรรดิมอคเตซูมาที่ 2 ตัดสินพระทัยผิดครั้งใหญ่ จนนำมาซึ่งอวสานของจักรวรรดิ และพระชนม์ชีพองพระองค์เอง




พระองค์ทรงยินยอม ให้กอร์เตซเดินทางเข้าสู่ใจกลางของจักรวรรดิอัซเต็ค โดยไม่มีการต่อต้านใดๆ อีก กอร์เตซมาถึงกรุงเตนอชติทลันในวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ.1519

พวกเขาได้รับการต้อนรับ ในฐานะแขกของจักรพรรดิ และได้รับอนุญาตให้พำนักในพระราชวังของ อดีตจักรพรรดิอักซายาคาทล์ (Axayacatl) นับว่าได้รับเกียรติอย่างมาก

ซึ่งพวกสเปนไม่สำนึกแต่อย่างใด พวกเขาต้องการเพียงแต่ทองคำ และความร่ำรวยของจักรวรรดิเท่านั้น

การตัดสินพระทัยของจักรพรรดิมอคเตซูมาที่ 2 ทำให้ขุนนางอัซเต็คที่ปกครองอยู่ตามหัวเมืองไม่พอใจ และเริ่มมีการโจมตีทหารสเปน รวมทั้งชนเผ่าพื้นเมืองที่สมคบกับพวกสเปนด้วย

ซึ่งแสดงให้เห็นชัดว่า พระราชอำนาจขององค์จักรพรรดิกำลังถดถอยครับ

หลังจากคณะของกอร์เตซอยู่ที่เตนอชติทลันได้ 6 สัปดาห์ ก็ได้ข่าวว่า นักรบอัซเต็คได้โจมตี และฆ่าทหารของเขา รวมทั้งพันธมิครโตโตนัคในเวราครูซตายไปเป็นจำนวนมาก

กอร์เตซใช้เหตุการณ์นี้ เป็นข้ออ้างที่จะควบคุมองค์จักรพรรดิไว้ในพระราชวัง และปกครองกรุงเตนอชติทลันด้วยตนเองเป็นเวลาหลายเดือน

ในปีค.ศ.1520 เบลัซเกซ ผู้ว่าการคิวบา ส่งกองกำลังนำโดย ปันฟิโล เด นาบาเอซ (Pánfilo de Narváez) มาจับกุมกอร์เตซ ที่่ฝ่าฝืนกฎหมายขโมยเรือหนีมา

กอร์เตซแต่งตั้ง เปโดร เด อัลบาราโด (Pedro de Alvarado) คนสนิทของเขา ให้ดูแลกรุงเตนอซติทลันชั่วคราว

ส่วนตัวเขากับทหารส่วนหนึ่ง ออกไปรับมือกับกองทัพของเด นาบาเอซ ซึ่งเขาสามารถใช้กลอุบายล่อลวงให้นายกองของฝ่ายตรงข้ามมาเข้าร่วมกับตน จนทำให้เด นาบาเอซไม่สามารถจับกุมเขาได้

ในขณะเดียวกันกับที่กอร์เตซไม่อยู่ จักรพรรดิมอคเตซูมาที่ 2 ทรงขออนุญาตเด อัลบาราโด ในการจัดงานเทศกาล ตอกซ์คาทล์ (Toxcatl) ซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญของจักรวรรดิ ในการบูชา เทพอสูรเตซคาทลิโปคา (Tezcatlipoca) ณ มหาปราสาทแห่งกรุงเตนอชติทลัน

ซึ่งเด อัลบาราโดก็อนุญาตครับ

แต่เมื่อเทศกาลเริ่มขึ้น เด อัลบาราโดกลับสั่งให้ทหารสเปนสังหารหมู่ชาวอัซเต็ค ที่ไปร่วมงานอย่างสยดสยอง




เป็นเหตุการณ์ที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า Massacre in the Great Temple ซึ่งตรงกับวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ.1520

โดยสเปนอ้างว่า ที่เด อัลบาราโดทำเช่นนี้ เพราะต้องการช่วยชีวิตคนที่จะถูกบูชายัญ เพื่อบูชาเทพสงคราม ฮวิตซิโลปอชทลิ (Huitzilopochtli)

แต่บันทึกของชาวอัซเต็คระบุว่า พวกสเปนเห็นทองคำที่ชนชั้นสูงและคหบดีอัซเต็คสวมใส่ไปงานเทศกาล จึงเกิดความโลภ และทะเลาะวิวาทกับคนเหล่านั้น ทำให้กลานเป็นการจลาจล

การสังหารหมู่ดังกล่าว ทำให้ประชาชนที่ไปร่วมงานเทศกาล พากันล้มตายเป็นใบไม้ร่วง พวกเขาไม่มีอาวุธติดมือ และไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมีเรื่องร้ายเกิดขึ้น
.
ดังนั้น ความอดทนของชาวอัซเต็คจึงสิ้นสุด

บรรดาขุนศึก และนักรบอัซเต็คพากันล้อม และโจมตีพระราชวังเก่าที่กองทัพสเปนพำนักอยู่ โดยไม่รอฟังพระบัญชาจากองค์จักรพรรดิอีกต่อไป

กอร์เตซกลับมาถึงกรุงเตนอชติทลันพอดี เขานำทหารสเปนฝ่าฝูงชนเข้าไปในพระราชวังหลวง คุมองค์จักรพรรดิมอคเตซูมาที่ 2 ขึ้นบนกำแพงพระราชวัง เพื่อทรงมีพระราชโองการให้ประชาชนของพระองค์สงบลง




แต่ในช่วงนั้น สภาขุนนางเตนอซติทลันได้พากันลงมติ ปลดจักรพรรดิมอคเตซูมาที่ 2 จากราชบัลลังก์ และเลือกพระอนุชาคือ เจ้าชายควิทลาวัค (Cuitlahuac) เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 10 แล้ว

ดังนั้น เมื่ออดีตจักรพรรดิมอคเตซูมาที่ 2 เสด็จขึ้นไปบนกำแพง พระองค์ก็ทรงถูกทหารและประชาชนระดมกันขว้างก้อนหินใส่ จนสิ้นพระชนม์

หลังการสวรรคตของอดีตจักรพรรดิมอคเตซูมาที่ 2 กองทัพสเปนพยายามหลบหนีออกจากกรุงเตนอซติทลัน ในคืนวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ.1520




จักรพรรดิควิทลาวัค ทรงพระบัญชาให้นักรบของพระองค์โจมตีพวกสเปน ที่กำลังหอบหิ้วทรัพย์สมบัติพะรุงพะรัง ข้ามสะพานไปยังชายฝั่งทะเลสาบเต็กซ์โคโค ดังนั้นเกราะเหล็ก ปืน และดาบ ไม่อาจคุ้มกันทหารโจรเหล่านี้ได้อีกต่อไป

กอร์เตซพาคนของเขาตีฝ่าออกไปได้ราวๆ 50 คนเท่านั้น ที่เหลือกลายเป็นศพเกลื่อนกลาดอยู่บนสะพาน ถนน และจมอยู่ในคลองของกรุงเตนอชติทลัน

นักประวัติศาสตร์สเปนเรียกเหตุการณ์นี้ว่า คืนวิปโยค (La Noche Triste : The Night of Sorrows)

กอร์เตสพาบริวารโจรที่รอดตาย หนีไปซ่องสุมกำลังพลที่ทลักซคาลัน เขาติดต่อกับรัฐบาลสเปน จนได้ทหารใหม่มาอีกหลายร้อยนาย

ส่วนจักรพรรดิควิทลาวัค ฉลองชัยชนะได้ไม่นาน ก็เกิดโรคระบาดในกรุงเตนอซติทลัน

มัoตือ โรคฝีดาษ ซึ่งมากับชาวสเปน และชาวอัซเต็คไม่มีภูมิคุ้มกันโรคนี้ครับ

ผู้คนในกรุงเตนอชติทลัน จึงได้ล้มตายไปราวๆ 70% รวมทั้งองค์จักรพรรดิเองด้วย
.
จักรพรรดิหนุ่ม ควาอูฮ์เตมอค (Cuauhtémoc) จักรพรรดิองค์ที่ 11 ครองราชย์ต่อจากจักรพรรดิควิทลาวัค ในขณะที่พระองค์กำลังทรงวุ่นวายกับโรคฝีดาษ กองทัพของกอร์เตซก็กลับมา

ครั้งนี้ กองกำลังสเปนได้ไพร่พลเพิ่มจากชนเผ่าทลักซ์คาลัน นำโดย ซิโคเตนคาทล์ ผู้ลูก (Xicotencatl the Younger) และชนเผ่าอื่นๆ ที่เป็นศัตรูกับจักรวรรดิอัซเต็ค เข้าล้อมกรุงเตนอซติตลัน รวมทั้งพันธมิตรอย่างทลาโคปัน และเต็กซ์โคโค

จนในที่สุด เต็กซ์โคโคต้องแปรพักตร์ไปเข้ากับสเปน เพื่อเอาตัวรอด

แม้จะเหลือนักรบอยู่เพียงหยิบมือ ทั้งยังเผชิญกับโรคฝีดาษที่ฆ่าคนในเมืองทุกวัน แต่องค์จักรพรรดิควาอูฮ์เตมอค ก็ทรงป้องกันนครเตนอชติทลันไว้ได้เป็นเวลาหลายเดือน ก่อนจะล่มสลาย




กองกำลังผสมสเปนและทลักซ์คาลัน ได้รับชัยชนะเหนือจักรวรรดิอัซเต็ค ในวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ.1521 ทั่วทั้งกรุงเตนอชติทลันถูกปล้นสะดมภ์และเผาทำลาย จักรพรรดิควาอูฮ์เตมอคทรงต่อสู้จนสิ้นพระกำลัง ถูกจับเป็นเชลย

ซึ่งกอร์เตซได้สั่งจองจำ และทรมานพระองค์เป็นเวลานานถึง 4 ปี ก่อนประหารในปีค.ศ.1525
.
การล่มสลายของจักรวรรดิอัซเต็ค เป็นเหตุการณ์สำคัญอย่างยิ่งในการสถาปนา เขตอุปราชแห่งสเปนใหม่ ซึ่งยังมิได้รับรองอย่างเป็นทางการโดยราชวงศ์สเปน จนกระทั่งปีค.ศ.1535 หลังจากการพิชิต 14 ปี




ในระหว่างนั้น สเปนได้ทำลายวัฒนธรรมและศาสนาของชนพื้นเมืองอย่างต่อเนื่อง บังคับให้ผู้คนที่เหลืออยู่เข้ารีตในนิกายโรมันคาธอลิค

เรื่องราวของการปฏิบัติต่อชาวพื้นเมืองอย่างโหดร้ายของสเปน ยังคงเล่าผ่านชาวอัซเต็ค และผู้สืบสายมาจนทุกวันนี้

...................................


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

No comments:

Post a Comment