Saturday, February 15, 2020

อารยธรรมมายาหลังค.ศ.1000






ภายหลังการล่มสลายของอารยธรรมมายายุคเก่า ในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 10 อันเกิดจากการทำสงครามกันเอง และการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างฟุ่มเฟือย จนระบบเศรษฐกิจพังพินาศแล้ว

ในช่วงระหว่างค.ศ.1100-1200 อารยธรรมมายาก็กลับรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในแคว้นยูคาตัน (Yucatan) โดยนครรัฐที่เกิดขึ้นมาใหม่ เช่น อุกซ์มัล (Uxmal) กาบาห์ (Gabah) ซายิล (Sayil) และ ลับนา (Labna) 

นครเหล่านี้ มีการสร้างเทวสถานและอาคารต่างๆ ขึ้นอย่างงดงาม และยิ่งใหญ่ ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานกันว่า น่าจะเป็นผลงานของบรรดานักปราชญ์ และช่างฝีมือ ที่อพยพไปจากนครรัฐยุคเก่าที่ล่มสลายไปแล้วนั่นเอง




และในบรรดานครรัฐทั้งหมด เห็นจะไม่มีที่ใดเจิดจรัสไปกว่า ชิเชน อิตซา (Chichén Itzá) ของชนเผ่าอิตซาหรือปูตุน (Putun) ซึ่งเดิมอาศัยอยู่แถบชายฝั่งทะเลของแคว้นทาบาสโค (Tabasco) และคัมเปเช (Campeche) ในปัจจุบัน ได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐาน และสร้างนครรัฐแห่งนี้ขึ้นในแคว้นยูคาตันเมื่อค.ศ.918 (ตรงกับยุคทวารวดี ศรีวิชัย และหริภุญไชยของเรา)

อย่างไรก็ตาม อารยธรรมมายายุคใหม่ โดยเฉพาะในนครที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดอย่าง ชิเชน อิตซา ก็แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมต่างชาติที่เข้ามาปะปน ไม่ใช่วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวมายาล้วนๆ อีกต่อไป

นั่นคือ การรับลัทธิบูชาจอมเทพเควตซัลโคอาทล์ (Quetzalcoatl) จากชนเผ่าตอลเต็ค (Toltec) ซึ่งเป็นชนเผ่าเม็กซิกันที่ยิ่งใหญ่เผ่าหนึ่ง โดยชาวมายาเรียกจอมเทพองค์นี้ว่า กูกูลคัน (Kukulkán)

ชิเชน อิตซา เจริญรุ่งเรืองอยู่นานกว่า 200 ปี หลังจากค.ศ.1200 ก็เกิดมีขุนนางคนหนึ่ง ที่ได้ผ่านพิธีกรรมที่ทำให้กลายเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเมื่อประชาชนพร้อมใจกันอัญเชิญท่านผู้นี้ขึ้นเป็นกษัตริย์ พระองค์ก็ทรงละทิ้งชิเชน อิตซา และทรงนำผู้คนทั้งหมด อพยพไปสร้างเมืองใหม่ที่ มายาปัน (Mayapan)

แต่นครใหม่แห่งนี้ ก็กลับกลายเป็นจุดเสื่อมของอารยธรรมมายายุคใหม่ครับ




เพราะหลังจากเมืองนี้ก่อเกิด และคงอยู่ต่อมาเป็นเวลา 259 ปี ก็ไม่ปรากฏว่ามีการพัฒนา หรือแม้แต่จะสามารถอนุรักษ์ศาสนาดั้งเดิม อันเป็นแกนหลักแห่งอารยธรรมไว้ได้

ไม่เพียงเท่านั้น ชาวเมืองยังถูกปกครองอย่างกดขี่ข่มเหง จนในที่สุดก็มีผู้ก่อกบฏ และเผาผลาญเมืองนี้จนสูญสิ้นไปในกองเพลิง
         
ความหายนะของมายาปัน ทำให้เกิดความเสื่อมถอยอย่างรุนแรงแพร่กระจายไปยังนครรัฐอื่นๆ จนทำให้เกิดการแตกแยกขึ้นทั่วไป

แล้วแคว้นยูคาตันก็ถูกแบ่งเป็นรัฐอิสระ 16 รัฐ ซึ่งแต่ละนครรัฐก็ทำสงครามกันเอง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับอารยธรรมมายาในยุคเก่าก่อน และไม่มีรัฐใดที่พัฒนาขึ้นเป็นศูนย์รวมอำนาจแต่เพียงผู้เดียวอีกเลย

ในที่สุด ศูนย์กลางความเจริญในปลายสมัยแห่งอารยธรรมมายา ก็ไปปรากฏ ณ เกาะโคซูเมล (Cozumel) เมืองท่าริมทะเลในแคว้นควินตา-นารูในปัจจุบัน ซึ่งเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นศูนย์กลางทางการค้าขาย มากกว่าจะเป็นศูนย์กลางทางศาสนา อันเป็นหัวใจสำคัญของอารยธรรมมายาตลอดมา




และแล้ว อารยธรรมมายาก็ถึงกาลแตกดับอย่างแท้จริง ด้วยปัจจัยเสริมจากภายนอก คือ กองทหารสเปน

เหมือนที่เกิดกับอารยธรรมอัซเต็ค และอินคามาก่อนหน้าแล้ว

ตั้งแต่ในช่วงค.ศ.1521 เป็นต้นมา ที่ เอร์นัน กอร์เตซ  (Hernán Cortéz) ทำลายกรุงเตนอชติทลัน (Tenochtitlan) นครหลวงของจักรวรรดิอัซเต็ค และขยายการรุกรานดินแดนต่างๆ ไปทั่วอเมริกากลาง เป็นผลให้นครรัฐส่วนใหญ่ของชาวมายาพลอยติดร่างแหไปด้วย

ดังมีบันทึกไว้ว่า ในระหว่างปี 1523-24 แคว้นกัวเตมาลา เอลซัลวาดอร์ และฮอนดูรัส ได้ถูกทำลายลงโดยฝีมือนายทหารในสังกัดของกอร์เตซ
         
ต่อมาในปี 1526 ทหารสเปนก็กรีฑาทัพเข้าตีแคว้นยูคาตัน ซึ่งแม้จะอยู่ในยุคเสื่อมแล้ว ก็ยังสามารถต้านทานอยู่ได้เป็นเวลาถึง 20 ปี กองทัพสเปนต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก กว่าจะสามารถยึดครองดินแดนทั้งหมดของยูคาตันได้ในค.ศ.1546
         
ชาวมายาที่เหลือรอด ได้อพยพไปรวมกันที่นครตายาซัล (Tayazal) บนเกาะในทะเลสาบเปเตน (Peten) แต่ก็ไม่อาจรอดพ้นเงื้อมมือของชาวสเปน ผู้กระหายอาณานิคมได้

ในค.ศ.1697 กองกำลังทหารปืนใหญ่ ภายใต้การนำของ มาร์ติน เด เอร์ซัว (Martin de Erzua) เดินทางไปถึงตายาซัล และทำลายกองทัพเรือมายาที่ออกมาตอบโต้จนแหลกละลายทั้งหมด

นครรัฐตายาซัล ที่มั่นแห่งสุดท้ายของชาวมายาจึงตกอยู่ภายใต้การยึดครองของสเปนนับแต่นั้น

เมื่อยึดครองนครรัฐต่างๆ ของมายาได้แล้ว ชาวสเปนก็บังคับให้ชาวมายาทุกคนเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ และล้มล้างมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาวมายาจนหมดสิ้น

ปัจจุบัน พื้นที่ที่อารยธรรมมายายุคใหม่เคยรุ่งเรือง ถูกแบ่งเป็นประเทศเม็กซิโก เบลีซ  กัวเตมาลา เอลซัลวาดอร์ และฮอนดูรัส

ซึ่งประชาชนส่วนหนึ่ง ที่สืบเชื้อสายมาจากชาวมายา ยังคงพูดภาษายูคาเต็ค และพยายามอนุรักษ์วัฒนธรมมายา เท่าที่พอจะทำได้




ในขณะที่โบราณสถานอันงามสง่า ที่บรรพชนของพวกเขาสร้างไว้ ก็สร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือนจากทุกทวีป

ดังเช่นนครโบราณชิเชน อิตซา ที่ UNESCO ได้ประกาศให้เป็นมรดกโลก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ละครับ

...................................


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

No comments:

Post a Comment